24-02-2560

* กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่ง ประเทศไทย จัดเสวนา “คุยกัน ฉันท์วิทย์” ตอน “The Science of Love” รักแรกพบ พรหมลิขิต และการเจริญพันธุ์ของมนุษย์

   ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานเสวนา “คุยกัน ฉันท์วิทย์” ตอน “The Science of Love” รักแรกพบ พรหมลิขิต และการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยกล่าวตอนหนึ่งว่าหากต้องการคำตอบว่า รักแรกพบ หรือพรหมลิขิตมีจริงหรือไม่ เราสามารถหาคำตอบได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่ชี้ว่าใบหน้าที่สมมาตรซ้ายขวา คือความสวยความหล่อแบบสากล / ผู้ชายอาจเลือกผู้หญิงที่หน้าตาคล้ายแม่หากผู้ชายคนนั้นเติบโตมาแบบมีความทรงจำที่ดีกับแม่ หรือผู้ชายอาจเลือกผู้หญิงจากรูปร่าง โดยดูจากเอวและสะโพก และสัญชาตญาณที่ทำให้ผู้ชายเลือกผู้หญิงที่มีน้ำมีนวล เพราะสมัยโบราณการที่ผู้หญิงมีรูปร่างสมบูรณ์ นั้นหมายถึงโอกาสที่จะมีลูกโดยไม่แท้ง และมีโอกาสที่จะเลี้ยงลูกให้รอดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ว่าผู้หญิงมักชอบออกเดทกับผู้ชายที่มีลักษณะแบดบอยเพราะทำให้ตื่นเต้น เร้าใจ แต่จะเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่มั่นคงและมีความเป็นผู้นำมากกว่า

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แอนนา วงษ์กุหลาบ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา “คุยกัน ฉันท์วิทย์” กล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมศาสตร์ให้กับคู่รักตั้งแต่ ก่อนแต่งงาน และก่อนตั้งครรภ์ ก่อนคลอด รวมทั้งตรวจหาภาวะโรคหายากทางพันธุกรรม ซึ่งมีความจำเป็น และสำคัญมาก ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดการเกิดโรคทางพันธุกรรมสู่บุตร