01-03-2560

สวทช.ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและสถาบันการศึกษาสร้างความร่วมมือบริหาร เชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติ

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, และ รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามความร่วมมือการบริหารเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub) ในระดับสากล พร้อมตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็น 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2565)

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2549 มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไทย และเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย ให้สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ หรือ Seed hub ในระดับสากล โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 และร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออก เป็นเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศ

   ด้าน ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า การบริหารเชื้อพันธุกรรมพืช ในระดับชาติ เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล ครั้งนี้ ระยะแรกมุ่งเน้นกลุ่มพืชเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ ข้าว ข้าวโพด พืชผัก และพืชไร่ตระกูลถั่ว พืชอาหารสัตว์และพืชบำรุงดิน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย สร้างความมั่นคงในด้านอาหาร สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน สร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

 

   ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหน่วยเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติเป็นแผนยุทธศาสตร์หนึ่งในห้าแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้ดำเนินงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาโดยมี สวทช. สนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารเชื้อพันธุกรรมพืช ได้แก่ พริก มะเขือเทศ ข้าวโพด และพืชวงศ์แตง เพื่อการจัดการและประเมินเชื้อพันธุกรรมพืช การศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ เช่น ความต้านทานต่อโรคแมลง หรือลักษณะเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชเลือกเชื้อพันธุกรรมเพื่อทำการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ๆที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น