08-03-2560

เปิดตัวนวัตกรรมส่องกล้องรักษาโรคหืดแห่งแรกในประเทศไทย

   ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประสบผลสำเร็จในการนำนวัตกรรมใหม่ใช้ในการรักษาโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรง ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะรุนแรง ที่มีความจำเป็นในการพ่นยา รับประทานยา และฉีดยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการรับประทานยาและฉีดยาได้ เป็นเวลานานถึง 5 ปี เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละประมาณหลายแสนบาทต่อคน

   ด้าน นายแพทย์ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึง การรักษาโรคหืดด้วยนวัตกรรมใหม่ ด้วยการจี้หลอดลมด้วยความร้อน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ไม่เหนื่อยหอบ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลบ่อยโดยวิธีรักษาโรคหืดด้วยนวัตกรรมการส่องกล้อง ใส่สายแคสเตเตอร์หย่อนลงไปผ่านหลอดลมเข้าไปในปอด เซนเซอร์จะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศา และจี้เข้าไปที่หลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบให้บางลงไม่ให้หลอดลมตีบ การจี้แต่ละจุดใช้เวลา 2 ชม. ในการทำ 1 ครั้ง จะต้องจี้ให้ได้ 100 จุด จุดละ 10 วินาที หรือมากที่สุดในบริเวณปอดล่างขวา ปอดล่างซ้าย และปอดด้านบนสองข้างทำทั้งหมดจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์

   ทั้งนี้จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าการจี้กล้ามเนื้อเรียบทำให้โรคหืดสามารถควบคุมได้ลดอาการกำเริบได้นานถึง 5 ปี ไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยและปอดไม่ถูกทำลาย ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองมาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดด้วยวิธีการนี้ โดยผลจากการที่ได้ทำการรักษากับผู้ป่วยนั้น พบว่าลดโอกาสเกิดหอบหืดกำเริบมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิม ลดการมาพบแพทย์ห้องฉุกเฉินประมาณ 5 เท่า ลดโอกาสการมานอนโรงพยาบาลประมาณ ร้อยละ 73