20-03-2560

เตือนประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพตนเองในช่วงฤดูร้อน ย้ำหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด

   นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก พบว่า ตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี สถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ เกษตรกรรม รับจ้าง และทหาร ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรค คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยรายเดือนในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2560 พบว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน จะพบผู้ป่วยประมาณ 150 ถึง 400 รายต่อเดือน พบมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชน หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอให้รู้สึกหิวน้ำ ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้านที่เป็นห้องกระจกปิดไว้เพียงลำพัง และไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดด หากมีอาการตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก / หายใจถี่ / วิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ 6 กลุ่ม คือ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่อดนอน และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ

   ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อน วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นทำได้ด้วยการนำผู้มีที่อาการเข้าร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ แต่ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669