27-03-2560

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้บรรณารักษ์ร่วมกันคิดค้นวิถีทาง

   หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 กับการพัฒนาห้องสมุด" ในโครงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 และประชุมวิชาการของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ว่า ในเรื่องของทิศทางแผนการศึกษาชาติ เป็นงานด้านการศึกษาที่ต้องมีการวางแผนงานล่วงหน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจหน้าที่อย่างมีเหตุและผล เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาการศึกษาในแต่ละด้าน ซึ่งอาจจะประสบผลมากบ้างน้อยบ้างตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมโยงของแผนการศึกษาแต่ละกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่แผนงานของการศึกษาแต่ละระดับจะต้องมีความชัดเจน ต่อเนื่อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งงานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่ได้ช่วยบ้านเมืองเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่มาร่วมงานประชุมในครั้งนี้ กำลังทำหน้าที่ของครูผู้อบรมสั่งสอนให้เด็กมีความรู้ และเป็นบรรณารักษ์ดูแลงานห้องสมุดในสถานศึกษาหรือห้องสมุดประชาชนอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งความเป็นครู นับว่ามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ไพศาล เป็นผู้เสียสละ และเป็นผู้ดำรงเกียรติยศ แม้จะมีคนเห็นบ้างไม่เห็นบ้างก็ตามที แต่ครูที่ต้องสวมหมวกสองใบ สอนด้วยและดูแลห้องสมุดด้วย ต้องมีความตั้งใจและทุ่มเทเวลา แรงกาย และแรงใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าการเข้ามาเรียนรู้ในห้องสมุดหรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนไทยมากนัก

   ดังนั้น จึงเป็นภาระของบรรณารักษ์ในการคิดค้นวิถีทาง เพื่อเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชน เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางหนังสือให้น่าหยิบน่าจับขึ้นมาอ่าน การนำเสนอหนังสือใหม่ หนังสือที่น่าสนใจ ท่วงท่าอันกระฉับกระเฉงของบรรณารักษ์ เป็นต้น และนอกจากครูแล้ว ส่วนตัวยังมองว่าข้าราชการต้องเป็นตัวอย่างต่อสังคมด้วย โดยเฉพาะเป็นตัวอย่างแก่เด็กและเยาวชนในเรื่องของการใฝ่ศึกษาหาความรู้จากการอ่าน รวมทั้งการดำรงชีวิตบนความถูกต้องและดีงาม เพื่อเด็กจะได้เห็นเป็นตัวอย่าง เห็นเป็น IDOL ที่จะเกิดเป็นความอบอุ่นใจ ดูอย่าง เอาเป็นแบบอย่างในที่สุด

   ทั้งนี้ "หนังสือ" เปรียบเสมือนมรดกทางปัญญา ที่นอกจากจะทำให้ตัวเองได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ แล้ว ยังส่งต่อความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งต่อความสัมพันธ์จากร่องรอยการอ่านของผู้อ่าน จากรอยไฮไลต์ที่เน้นข้อความ ขีดเส้นใต้บางประโยค และโน้ตย่อใจความต่าง ๆ ซึ่งหากเราอ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ จะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ส่วนตัวจึงชอบอ่านจากหนังสือมากกว่าอ่านออนไลน์ เพราะสะดวกและรวดเร็ว เข้าถึงง่ายหาง่าย เปิดอ่านได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต และสามารถขีดเขียน ลากสีก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนยังนิยมอ่านจากหนังสือ, Textbook, Pocket Book ควบคู่กับการค้นคว้าหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์