29-03-2560

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน..ฉันท์วิทย์”

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ วีสกุล รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน..ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “เปิดมุมมองผ่านอาเซียนสู่ความสำเร็จ ASEAN Next 2017” เวทีส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเป็นแนวทางในการพัฒนา ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระดับภูมิภาค งานดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 – 10 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อก่อตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความเข้าใจในการนำข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบอาเซียน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้แบ่งปันข้อมูลด้านสารสนเทศทรัพยากรน้ำ การสร้างบุคลากรในอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาค

   ด้าน ดร. ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการบรรยายและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการศึกษาจุลินทรีย์ การบริหารจัดการศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์รวมถึงการจัดการข้อมูล รวมถึงแนวโน้มงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ ในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 7–9 มีนาคม 2560 แก่สมาชิกและผู้สนใจทางด้านจุลินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมาย ที่จะพัฒนาบุคลากรของไทยและอาเซียนให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการบริหารจัดการ การเก็บรักษา การจัดจำแนก และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ตามหลักสากลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งได้รับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เทคนิคการวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

   ขณะที่ นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กล่าวว่า สำหรับการถ่ายทอดความรู้ด้านการอบรมความปลอดภัยระบบราง จากผู้เชี่ยวชาญจาก ประเทศจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเยอรมัน สรุปได้ว่า แต่ละประเทศมีการใช้เทคโนโลยีหลักที่คล้ายกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ในส่วนของความปลอดภัยระบบราง เพื่อช่วยในการประเมินด้านความปลอดภัยของการเดินรถและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษา โดยนำเทคโนโลยี sensor ชนิดต่าง ๆ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาลักษณะเฉพาะของความเสียหาย ระบุประเภทและความรุนแรงของความเสียหาย เพื่อทำการซ่อมแซมก่อนที่จะเกิดความเสียหาย รวมถึงสามารถทำนายสภาพของระบบรางในอนาคตได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้สามารถวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างเหมาะสม ตามสภาพจริงของระบบ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็น และเพิ่มรายได้จากการใช้สินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ