11-05-2560

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ส่งมอบเครื่องบินก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ใช้สอนนักเรียนให้เป็นบุคลากรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานป้อนอุตสาหกรรมการบินโลกในอนาคต

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ส่งมอบเครื่องบิน โคซี่ มาร์ค โฟร์ ชนิด คอมโพสิท 4 ที่นั่ง แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ใช้สอนนักเรียนให้เป็นบุคลากรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานป้อนอุตสาหกรรมการบินโลกในอนาคต

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ทำโครงการวิศวกรรมการออกแบบและสร้างเครื่องบิน Cozy Mark Thailand หนึ่งการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศใช้ระยะเวลาดำเนินงานต่อเนื่องมากกว่า 7 ปี จึงได้ส่งมอบเครื่องบิน โคซี่ มาร์ค โฟร์ชนิด คอมโพสิท เครื่องบิน 4 ที่นั่ง ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่ใช้ในการเรียนการสอนและหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ภาควิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เช่น ระบบการทำงานของอากาศยานขนาดเล็ก การฝึกปฏิบัติด้านเครื่องยนต์ชนิดลูกสูบ การฝึกปฏิบัติซ่อมโครงสร้างที่เป็นวัสดุผสมและการฝึกปฏิบัติทางระบบสื่อสารของอากาศยานขนาดเล็ก รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะและเกิดความเคยชินในงานซ่อมอากาศยานขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองการเติบโตขอภาคอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ถือเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานนำไปสู่การซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกของประเทศไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทย ทั้งการสร้างส่วนโครงลำตัวเครื่อง การติดตั้งระบบเครื่องยนต์ และการวางระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ โดยสามารถใช้งานจริงได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งมีเครื่องยนต์ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้มากที่สุด 2,050 ปอนด์

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3.6 โดยในปี 2034 จะมีเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้งค์ใหม่ประมาณ 36,000 ลำ ทำให้ต้องผลิตช่างซ่อมบำรุงเพิ่มอีกกว่า 580,000 อัตรา ซึ่งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีเครื่องบินใหม่ประมาณ 10,000 ลำ โดยเฉพาะในมาเลเซียและจีน ทำให้ต้องเร่งผลิตนักบินเพิ่ม 200,000 อัตรา และช่างซ่อมบำรุงเพิ่ม 200,000 อัตรา จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยป้อนสู่ตลาดการบินโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพจะพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับโลกให้เพียงพอกับความต้องการกำลังพลในอนาคต