03-07-2560

จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน..ฉันวิทย์” ในหัวข้อเรื่อง “วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย มหันตภัยใกล้ตัว”

   ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบัน สิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกคนโดยตรง ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและชนชั้น และไม่มีใครสามารถหลุดพ้นจากภัยดังกล่าวได้ จึงจัดเป็น วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นมหันตภัยใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ต่อคนไทยทุกคน โดยการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย /การกำหนดเขตพื้นที่ของกิจกรรม /การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก /การสร้างความร่วมมือ /การมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน/ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานภาครัฐ

   ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มงวด เพื่อทำให้เห็นผลสำเร็จในความพยายามที่จะทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรม มีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะต้องมีแนวการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะนำหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ สีน้ำเงินมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่ทำให้ของเสียเป็นศูนย์ โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาในขบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

   ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทะเลมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ มีความสัมพันธ์และเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์

   ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันและแก้ไขวิกฤตทางทะเลนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคนเพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ท้องทะเลไทยกลับคืนสู่ความสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง