08-09-2560

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เร่งพัฒนาผลิตกำลังคน

   นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนกำลังคนสายอาชีวศึกษาที่จะรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แม้จะมีตลาดชัดเจน และนักศึกษาให้ความสนใจลงทะเบียนเรียนสาขาวิชาการท่องเที่ยวและโรงแรมเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. มีวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงมัคคุเทศก์ รวม 43 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการคนปีละ 200,000 คน โดยสามารถผลิตได้เพียง 4,000 คน ครม. จึงมีมติสั่งการให้ช่วยกันแก้ปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ นอกจากนี้หลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องตอบโจทย์การท่องเที่ยวของท้องถิ่น ในรูปแบบอุตสาหกรรมท้องถิ่น ซึ่งจำแนกตามประเภทการท่องเที่ยว โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการงานวิจัยระหว่างบุคลากรอาชีวศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้มีขีดความสามารถและสมรรถนะสูงยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของชุมชนชนบทฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ โดยความร่วมมือของ สกว. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้อนุมัติทุนวิจัยด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว ปี 2556 เพื่อศึกษาวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน ผู้ประกอบการ และองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่ โดยผลผลิตที่ได้จากการวิจัยส่วนหนึ่งเป็นหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากำลังคนในระดับอาชีวศึกษาให้สามารถรองรับตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

   รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน และทักษะในการบริการของบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับภาคการท่องเที่ยว โดยแนวทางการบริหารหลักสูตร คือ ให้มีการใช้ใบรับรองการจบหลักสูตรในการสมัครงานในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ หลักสูตรการฝึกอบรมสามารถจำแนกเป็นหลายระดับ เช่น ระดับปฏิบัติการ ระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะนำผลผลิตจากงานวิจัยดังกล่าวไปปฏิบัติจริง ด้วยการจัดทำบันทึกข้อตกลง รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาต่อไป ซึ่งสอศ. ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และต้องการนำผลการวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติ จึงได้จัดประชุมร่วมระหว่าง สกว. และสอศ. จนนำสู่การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่แถบอันดามัน กระบี่ พังงา ภูเก็ต และบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงราย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 “การเพิ่มขีดความสามารถทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวและการบริการเพื่อรองรับการจ้างงานในระดับอาชีวศึกษาของประเทศไทย” โดยวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก วิทยาลัยเทคนิคพังงา วิทยาลัย การอาชีพท้ายเหมือง วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต และวิทยาลัยเทคนิคถลาง ร่วมดำเนินการ และมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพี่เลี้ยง และโครงการที่ 2 “การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพื้นที่สูง โดยใช้การท่องเที่ยวของชุมชนเป็นเครื่องมือในพื้นที่เขตบริการศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย” โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงรายร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวจะช่วยพัฒนาการอาชีวศึกษาด้านวิชาการและการวิจัยหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม และด้านเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัด สอศ. ได้ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านวิชาการ นำไปพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยในสายวิชาชีพ และพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชนบนฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยวต่อไป