18-09-2560

มูลนิธิรากแก้ว บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษามีจิตอาสา และร่วมพัฒนาชุมชนในโครงการ

   หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้น เป็นหลักปรัชญาที่เป็นที่ประจักษ์ทั้งในหมู่ประชาชนชาวไทยและนานาประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลจึงได้เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ.2557-2560 เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับ และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของหลักการดังกล่าว ซึ่งสถาบันการศึกษาถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทั้งในด้านองค์ความรู้ บุคลากร รวมถึงพลังนิสิตนักศึกษา ในการสนับสนุนการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้น มูลนิธิรากแก้วในฐานะองค์กรที่มีพันธกิจในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพบนพื้นฐานของความเข้าใจปัญหาสังคม ได้ดำเนินงานร่วมกับทุกฝ่าย และพร้อมที่จะร่วมบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษามีจิตอาสา และร่วมพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ “โครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยพลังนิสิตนักศึกษา” และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามหลักการที่กำหนด ซึ่งการดำเนินงานได้มุ่งเน้นการนำศาสตร์พระราชามาผสมผสานกับความรู้ทางเศรษฐกิจ ทฤษฏี และความรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนจนบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย, จังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

   สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป มูลนิธิรากแก้วมีแนวทางความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการขยายผลการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นอีก 7 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ 7 สถาบันการศึกษาดังกล่าว พร้อมทั้งส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสนำเสนอผลการดำเนินงานและ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและขยายผลแก่สาธารณชนต่อไป

   ด้าน นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า งานมหกรรมพลังนิสิตนักศึกษาขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและขยายผลไปไกลกว่าเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ เป็นการวางรากฐานของอุปนิสัยที่ดีงาม ของนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีทัศนคติที่ถูกต้อง ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 โดยภาครัฐต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาร่วมกิจกรรมกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจิตอาสาหรือโครงการต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนการรับใช้ชุมชน เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงามซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงการปลูกฝังให้เด็กทุกวัย รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต อีกทั้งจะต้องสอนให้เด็กรู้จักคำว่า “พอเพียง” ด้วยการเรียนจากของจริง หรือเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่เรียนจากคำที่เป็นนามธรรม โดยต้องส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ความพอเพียงด้วยตนเอง อาทิ การสอนให้เด็กเล็กซึมซับความพอเพียงจากพ่อแม่ ไม่ใช่ให้เด็กนั่งจินตนาการว่าความพอเพียงคืออะไร