06-12-2560

กรมการขนส่งทางบก เริ่มมาตรการด้านความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่

   นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าเทศกาลปีใหม่ 2561 กระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางโดยกำหนดมาตรการเข้มข้น 7 7 7 (เจ็ด เจ็ด เจ็ด) แบ่งเป็น 7 วันก่อนเทศกาล วันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2560 , 7 วันระหว่างเทศกาล วันที่ 28 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2561 และ 7 วันหลังเทศกาล วันที่ 4 - 10 มกราคม 2561 โดยตั้งเป้าหมายลดสถิติอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากระบบขนส่งสาธารณะ พนักงานขับรถต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ทุกคน ทั้งยังกำหนดมาตรการดูแลอำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชนทุกคนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกได้สั่งการให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งจัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทางเสริมในเส้นทางให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน ทั้งเที่ยวไป - เที่ยวกลับ ซึ่งต้องไม่มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีโดยเด็ดขาด และให้ตรวจตราความปลอดภัยภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสและตรวจสอบการให้บริการของผู้ประกอบการทุกรายอย่างเข้มงวด ตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารทุกคัน พนักงานขับรถทุกคนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดรถที่กำหนดรวม 212 แห่ง ทั่วประเทศ และเพิ่มความเข้มข้นตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารเช่าเหมา หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง ระหว่างทางบนเส้นทางหลักใน 11 จังหวัด รวม 14 แห่ง โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง (รวม 21 วัน) ได้แก่ ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาล เริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1 – 7 ธันวาคม 2560 เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและเร่งปรับปรุงแก้ไขตัวรถและสร้างความเข้าใจให้แก่พนักงานขับรถ ควบคู่กับการตรวจความพร้อมที่สถานประกอบการ ช่วงก่อนเทศกาล ดำเนินการระหว่างวันที่ 21 – 27 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา และช่วงเทศกาล ดำเนินการเข้มข้นระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560 - 3 มกราคม 2561 โดย สอศ. ได้จัดคณะอาจารย์และนักศึกษาในพื้นที่ ตรวจสอบความพร้อมของรถร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก หากพบรถโดยสารไม่ปลอดภัย ไม่พร้อมใช้งานพ่นข้อความ “ห้ามใช้” และต้องนำรถเข้าตรวจสภาพหลังดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว กรณีพบพนักงานขับรถมีสภาพไม่พร้อมหรือพบการกระทำความผิดดำเนินการลงโทษขั้นสูงสุด ทั้งปรับ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถและ “สั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่” โดยผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนรถคันใหม่และพนักงานขับรถที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่แทนทันทีเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง และเข้มงวดตรวจสอบให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยครบถ้วนทุกคนก่อนออกเดินทาง