27-12-2560

ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือ

   พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ผู้บริหารในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา โดยกล่าวว่า ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานในการให้การสนับสนุนอำนวยการบริหารจัดการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือหรือ Northern Economic Corridor หรือ เอ็นอีซี ทีเว็ท แคร์เรีย เซ็นเตอร์ (NEC TVET Career Center)ขึ้น เพื่อประสานงานการผลิต ส่งเสริมและพัฒนากำลังคนในพื้นที่ภาคเหนือ ให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรม ตอบสนองการพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพ

   ด้านดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในเขตภูมิภาค สอศ. จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยศูนย์ประสานงานฯหลัก ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยพาณิชยการบึงพระพิษณุโลก และศูนย์รอง 5 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานฯ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน / ศูนย์ประสานงานฯ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 2 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน / ศูนย์ประสานงานฯ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 สถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก / ศูนย์ประสานงานฯ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4 สถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร / และศูนย์ประสานงานฯ สถาบันการอาชีวศึกษา เกษตรภาคเหนือ ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในเขตภาคเหนือทั้งหมด

   สำหรับศูนย์ประสานงานฯ NEC มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการบริหารด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 5 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจที่1. ฐานข้อมูลกลาง มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคนสำหรับนำมาวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ภารกิจที่2. ส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ มีหน้าที่พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะผู้สำเร็จการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 และจัดหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไป ภารกิจที่3. เสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือมีหน้าที่ส่งเสริมการทำงานภายใต้ ความร่วมมือกับสถานประกอบการในรูปแบบประชารัฐในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ภารกิจที่4. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ มีหน้าที่สนับสนุนการมีงานทำ และการหารายได้ระหว่างเรียน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจที่ใช้นวัตกรรม และภารกิจที่5. การวิจัยและพัฒนา มีหน้าทีส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคน