15-01-2561

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เดินหน้าซักซ้อมความเข้าใจการจัดทำแผนการรับนักเรียน นักศึกษา

   ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ปีการศึกษา 2561 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ตั้งเป้าให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐรับนักเรียน นักศึกษาเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ เพิ่มขึ้นเป็น 174,054 คน จากปีการศึกษา 2560 ที่รับได้ 165,776 คน ส่วนอาชีวศึกษาเอกชนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 16 หรือเพิ่มเป็น 88,073 คน จากปีการศึกษา 2560 ที่รับได้ 75,925 คน โดยอาชีวศึกษาจังหวัด หรือ อศจ. จะต้องวางแผนการรับนักเรียนโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด มีการเกาะติดผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานศึกษาในสังกัดสำนังานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแนะแนวและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญในการตัดสินใจเลือกเรียนอาชีวศึกษา ให้โอกาสกลุ่มผู้ที่จบชั้น ม.3 ไม่ได้ศึกษาต่อเข้ามาเรียนโดยเน้นให้มีที่พักและมีรายได้ระหว่างเรียน ตลอดจนขยายการรับในระดับปริญญาตรีสายปฎิบัติการเพิ่มมากขึ้นโดยเน้นการเรียนแบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ

   เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวปฎิบัติการรับนักเรียน นักศึกษาในปีนี้ขอให้ อศจ.พิจารณาในเรื่องสาขาวิชาที่เปิดสอน หากในพื้นที่เดียวกันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนเปิดสอนสาขาเดียวกัน อาชีวศึกษาของรัฐจะต้องรับเด็กในจำนวนเท่ากับปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา ต้องไม่มีการขยายจำนวนการรับเพิ่ม แต่ให้มุ่งเน้นเพิ่มปริมาณผู้เรียนในสาขาใหม่ๆ ที่เป็นความต้องการของประเทศ สาขาขาดแคลน หรือสาขาที่ใช้การลงทุนสูง โดยปีนี้อาชีวศึกษาจะเปิดรับสมัครก่อน สพฐ. 7 วัน ดังนี้ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 18-28 มีนาคม 2561ทดสอบความถนัดวันที่ 1 เมษายน ประกาศผลวันที่ 5 เมษายน และมอบตัววันที่ 8 เมษายน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. 1 ให้สถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 และระดับปริญญาตรีให้แต่ละสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการรับนักเรียนทุกระดับต้องคำนึงถึงการสร้างโอกาส ให้ได้เรียนอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ

   ด้านนายไพบูลย์ วงศ์ยิ้มย่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ในฐานะประธาน อศจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษา มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน รวม 7 แห่ง มีวิทยาลัยในสังกัด สอศ. 18 แห่ง เป็นอาชีวะรัฐ 8 แห่ง และเอกชน 10 แห่ง ในภาพรวมการรับนักเรียน นักศึกษา และโครงการทวิศึกษาปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา รับได้น้อยกว่าแผนการรับทั้งในส่วนของอาชีวะรัฐ และเอกชน ดังนี้ อาชีวะรัฐแผนรับระดับ ปวช. จำนวน 3,129 คน รับได้ 2,835 คน น้อยกว่าแผน 294 คน ระดับ ปวส.แผนรับ 3,186 คน รับได้ 2,811 คน น้อยกว่าแผน 375 คน ส่วนอาชีวะเอกชน แผนรับระดับ ปวช.จำนวน 3,924 คน รับได้ 2,307 คน น้อยกว่าแผน 1,617 คน ระดับ ปวส.แผนรับ จำนวน 3,233 คน รับได้ 1,532 คน น้อยกว่าแผน 1,701 คน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนยังมีค่านิยมที่จะเรียนสายสามัญ ทั้งยังมีค่านิยมที่จะสมัครเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงจึงส่งผลกระทบต่อแผนการรับของอาชีวศึกษาขนาดเล็ก ที่สำคัญคือโรงเรียนสายสามัญไม่ปล่อยเด็ก หรือรั้งเด็กของตนไว้และไม่ยอมให้ครูแนะแนวเข้าไปแนะแนวในสถานศึกษาสายสามัญ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ตนเชื่อว่าเกิดขึ้นกับทุก ๆ อศจ. ดังนั้น จึงต้องระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา อศจ.เชียงใหม่ได้แก้ไขปัญหาโดยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจและแนะแนวซึ่งเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น