05-02-2561

สำนักงาน กศน. ร่วมกับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน หารือถึงกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่

   นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงาน กศน. จัดประชุมแสดงความคิดเห็น กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ หรือร่าง พ.ศ.2559-2563 การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อหารือร่วมกับผู้บริหารกลุ่มศูนย์ส่วนกลาง / ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด ผู้อำนวยการสถานศึกษา กศน.อำเภอ/เขต มีคณะนักวิชาการกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์การมหาชน หรือ สมศ. ร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย การประชุมแสดงความคิดเห็นนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประเด็น คือ เพื่อนำเสนอ ร่าง กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ / เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำมาใช้พิจารณาปรับปรุง กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับแผนศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 ทั้งนี้ในการประชุมแสดงความคิดเห็น กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และนางสาวณมน จีรังสุวรรณ ผู้อำนวยการ สมศ. พร้อมคณะ ได้มีการนำเสนอ พร้อมกับร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น ร่าง ดังกล่าว และหลังจากนี้ จะได้มีการนำข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะที่ได้รับในครั้งนี้ ไปใช้พิจารณาปรับปรุง “ร่าง” ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับแผนศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 ต่อไป

   นายกฤตชัย อรุณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในการพัฒนา กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ของสำนักงาน กศน. นอกจากจะเป็นเวทีสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นและรวบรวมข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาปรับใช้ได้อย่างดีแล้ว ยังถือเป็นการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กศน. และ สมศ. เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้เรียน ผู้รับบริการ ว่าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ปัจจัยกระบวนการผลิต หรือกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และรับรองผลการจัดการศึกษา เมื่อผู้เรียนและผู้รับบริการสำเร็จการศึกษาแล้ว มั่นใจได้ว่า จะจบไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพได้