06-02-2561

กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนวัยทำงานเครียด แนะใช้ 5 เทคนิคเสริมสร้างความสุข

   นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายเสริมสร้างความสุขประชาชนวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 - 59 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 37 ล้านคน หลังพบเป็นกลุ่มที่พบมีความเครียดสูงสุดและเครียดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากปล่อยให้เครียดสะสมจะทำให้ร่างกายเกิดป่วยหนักตามไปด้วย จึงขอเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะงานบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพจิตผู้ปฏิบัติงานทุกคน สำหรับผู้ที่ไม่มีความสุขในการทำงาน มีข้อสังเกตได้จากการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม 4 ประการ คือ เบื่อ ไม่อยากทำงาน ขาดความกระตือรือร้น ทำงานผิดพลาดบ่อย หรือขาดงานเป็นประจำ / ไม่อยากพูดกับใคร โกรธง่าย น้อยใจง่าย ไม่รู้สึกสนุกสนานเหมือนเดิม / สูบบุหรี่จัดขึ้น หรือดื่มเหล้าจัดขึ้น จนบางครั้งขาดงาน หรือหาทางออกด้วยการเล่นการพนัน / เจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ เช่น ปวดหัวเป็นประจำ / ปวดหลัง / ปวดไหล่ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรืออยากนอนตลอดเวลา หากพบว่าตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานมีอาการดังกล่าว สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถ เพิ่มความสุขในการทำงานได้ โดยเริ่มจากตนเอง ด้วยวิธีการสร้างเสริมความสุขในการทำงาน 5 ประการ คือ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปทำงานแต่ละวัน ควร นอนให้พอ รับประทานอาหารเช้าให้อิ่ม และเตือนตัวเองเสมอว่า “ฉันพร้อมแล้วที่จะทำงาน” / ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานด้วยการใจกว้าง รับฟัง รู้จักพูดให้เป็นคือพูดไปในทางให้กำลังใจกันและกัน /เปิดใจรับฟังเมื่อหัวหน้าให้คำแนะนำหรือตักเตือน และชี้แจงด้วยเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ / พัฒนาตนเอง หมั่นฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมในงานที่ทำ และหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้เมื่อมีปัญหา เช่น เพื่อนสนิท / หัวหน้างาน เพื่อช่วยกันคิดแก้ปัญหา

   ด้านนางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ได้พัฒนาแบบประเมินความสุขคนไทยออนไลน์ ให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะ วัยทำงาน สามารถประเมินความสุขของตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้รู้เท่าทันสภาพจิตใจตนเอง นำสู่การแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่สะสมความเครียดจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยสามารถดาวน์โหลดแบบประเมินได้ ทางเว็ปไซต์ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต www.sorporsor.com