13-02-2561

สวทช. ภาคเหนือ เปิดประชุม “นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปันความรู้” ชูผลงานวิจัยใช้ได้จริง

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.โดย สวทช.ภาคเหนือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ สวทช.ภาคเหนือ ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่องาน “นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปันความรู้” เสริมแกร่งรุกหน้าตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิด “นวัตกรรมเหนือคาดหมาย พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 4.0” มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค ทั่วประเทศ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. และพันธมิตร การบรรยายพิเศษ การเสวนา เพื่อถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ วทน. รวมทั้งการมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนาประจำปี 2561 เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลต้นแบบผู้นำเอา วทน. ไปเป็นเครื่องมือในการคิดค้นหรือต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

   ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวต่อไปว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. โดย สวทช.ภาคเหนือ เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาค มุ่งมั่นทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน รวมทั้งให้บริการกลไกการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สร้างความมั่นคงมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน

 

   ในปีนี้มีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนร่วมงานประชุมประจำปีของ 2561 สวทช.ภาคเหนือ มากกว่า 900 ราย ผลงานที่มีการสนับสนุนทุนวิจัยรวมถึงเชื่อมโยงทุนวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นจำนวน 9 ทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 69 ครั้ง ใน 62 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 2,300 คน พัฒนาบุคลากรทั้งเกษตรกรแกนนำ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และผู้ประกอบการ กว่า 130 ราย ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP จำนวน 78 โครงการ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4 ค่าย และเกิดมูลค่าการลงทุนรวมถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมทั้งในภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรมกว่า 359.13 ล้านบาท จากการเก็บข้อมูล 147 โครงการในปีที่ผ่านมา

   ส่วน การมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนา เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดี เชิดชูนวัตกรรมชาวบ้าน ที่มีการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้นแบบที่ดีในการขยายผลโดยตัวแทน ในชุมชน โดยในสาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ นางมุทิตา สุวรรณคำซาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรม ได้แก่ นางยุพิน สายสำเภา ประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโอ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่