14-02-2561

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยโปรแกรม ITAP

   นายเกษคง พรทวีวัฒน์ ผู้บริหาร บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชียงใหม่ ไบโอเวกกี้ จำกัด คือ ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 จากการรวมตัวของเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกร และนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเล็งเห็นว่า คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับสารอาหารจากธรรมชาติและผักไม่เพียงพอ อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยมีมากจนเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด จนเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสนับสนุนให้คนไทยได้รับประทานผักมากขึ้นโดยบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย สะดวก และมาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทฯ ได้คัดสรรวัตถุดิบจากโครงการหลวงมาใช้ในการผลิต ผ่านกระบวนการแปรรูปให้แห้งโดยเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการคิดค้นและพัฒนาเครื่องจักรโดยทีมผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวที่สามารถรักษาคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด ควบคุมการผลิตตามมาตรฐาน การผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์ที่ดี และมาตรฐาน การรับรองระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร โดยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและมูลนิธิโครงการหลวงในการช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักผลไม้ที่มีมากเกินความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการช่วยเกษตรกรชาวเขาอีกทางหนึ่ง

   อีกทั้งบริษัทฯ มีความต้องการที่จะต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่รักสุขภาพ ตลอดจนต้องการให้บริษัทฯ ได้รับการรับรองระบบตามหลักมาตรฐานสากล จึงเป็นที่มาของโจทย์วิจัยจากบริษัทฯ สู่โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.สำนักงานเครือข่ายภาคเหนือ ด้วยการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแปรรูปผักด้วยนวัตกรรม เกิดเป็นสินค้า ประกอบด้วย ผักอัดเม็ดไบโอเวกกี้ และเครื่องดื่มสมุนไพรไบโอเวกกี้เพื่อสุขภาพ

   ด้าน นาง ปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติภาคเหนือ กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สำนักงานเครือข่ายภาคเหนือ ได้สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SMEs แต่ละราย มาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีและสร้าง ทางโปรแกรม ITAP ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบการผลิต เพื่อมีระบบควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพความปลอดภัย ตามหลักมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ สามารถขยายโอกาสและช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น