21-02-2561

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย น้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

   ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ อีกทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางในการสานต่อพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ด้วยการนำองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค 4.0 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และยั่งยืน ส่งเสริมให้วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้ครู นักเรียน นักศึกษา และชุมชน คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ด้านชีวภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการใน 4 กิจกรรม คือ แปลงสาธิตการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง และการรักษาสิ่งแวดล้อมตามวิถีธรรมชาติ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ในการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้ ครู นักเรียน นักศึกษา ได้ทดลอง คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่นำผลมาใช้ได้เกิด ประโยชน์ต่อชุมชน

   ทั้งนี้ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอศ. ได้ร่วมมือกับ กฟผ. มาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งปัจจุบัน มีวิทยาลัยเกษตรและและเทคโนโลยี 4 แห่ง เป็นศูนย์ประสานงานโครงการฯ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ทั้งระดับภาค และระดับประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม / ภาคกลาง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว / และภาคใต้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดรวมจำนวน 103 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 43 แห่ง วิทยาลัยประมง 3 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 41 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ 2 แห่ง วิทยาลัยเทคนิค 7 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวศึกษา 2 แห่ง วิทยาลัยสารพัดช่าง 4 แห่ง และวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี โดย กฟผ.จะดำเนินการในส่วนของการนำเสนอรายละเอียดโครงการฯ ให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมรับทราบ เพื่อนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้แก่วิทยาลัย ที่เข้าร่วมโครงการ แห่งละ 20,000 บาท สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสานงาน และติดตาม และร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินผล ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อม นำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยการพึ่งพาตนเอง อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และนำพาประเทศสู่ความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน