13-03-2561

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดตัวหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม”

   ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ฝึกทักษะวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำต่อไปในอนาคต ตลอดระยะเวลา มากกว่า 20 ปี โครงการ JSTP ได้มุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนในโครงการจนสามารถสร้างกำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและทำประโยชน์ให้กับประเทศในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จำนวนมาก

   ทั้งนี้ สวทช. ได้จัดทำหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” เพื่อนำเสนอตัวอย่างเยาวชน ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ให้มีใจใฝ่รักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างเยาวชนไทย ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กจำนวน 13 คน ผ่านการบ่มเพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโครงการ JSTP กว่า 10 ปี รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เยาวชนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ผู้ที่ชอบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เดินทางตามความฝันจนจบการศึกษาและกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป โดยหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” ได้จัดพิมพ์ 2,000 เล่ม และจำหน่ายโดย สวทช. ผู้สนใจสั่งซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือ สวทช. และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2564 7000

   ด้าน ดร. ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ ศิษย์เก่าโครงการ JSTP รุ่น 2 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ JSTP จากความสนใจส่วนตัวที่ชื่นชอบสัตว์ และสิ่งมีชีวิตโดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ เมื่อเข้ามา ในโครงการ JSTP ได้เรียนรู้และร่วมทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ทำวิจัยเกี่ยวกับนก จากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน /การพัฒนาเกี่ยวกับระบบการลาดตระเวน สำหรับสัตว์ขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ ชุ่มน้ำและสัตว์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ นำองค์ความรู้มาจัดทำเป็นบทเรียน ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชานิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

   ทั้งนี้ เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับ เด็กและเยาวชน โดยเปิดรับสมัครในทุกๆต้นปี การคัดเลือกจะเน้นที่กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำกิจกรรมและได้รับโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ภายในประเทศอีกด้วย