26-03-2561

ไอแทป จับมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา สร้างเครือข่ายแห่งใหม่ ตั้งเป้าเสริมแกร่ง SMEs

   ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. ดำเนินงานโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป (ITAP) มาตั้งแต่ปี 2536 ให้การสนับสนุน SMEs แล้ว ไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดย ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ ความต้องการของ SMEs แต่ละราย มาช่วยในการทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 1,300 ราย แต่ยังไม่เพียงพอต่อความช่วยเหลือ SMEs ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งภาคการผลิตและบริการ และยังขาดทรัพยากรด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากรความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการดำเนินงานเครือข่ายโปรแกรม ITAP จะช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และหลากหลาย เนื่องจากมหาวิทยาลัยพะเยา มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายสาขา และมีเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนที่ทันสมัย เอื้อประโยชน์ต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน โดยความร่วมมือจะช่วยสร้างกลไกการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนและครบวงจรมากขึ้น ทั้งนี้ สวทช. จะสนับสนุนองค์ความรู้และถ่ายทอดกระบวนการสนับสนุน SMEs ผ่านกลไกของโปรแกรม ITAP ให้กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถให้บริการ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สวทช. และมหาวิทยาลัย จะช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น สนับสนุนให้ SMEs เติบโต บนเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างยั่งยืน เป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

   ด้านศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มุ่งกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และภูมิภาคอื่นด้วย การตั้งโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยาขึ้น โดยความร่วมมือของ สวทช. เพื่อเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือด้านบริการวิชาการ แก่สังคม อาศัยองค์ความรู้จากผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจร่วมกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งในปี 2561 มีเป้าหมายจะให้บริการ SMEs ไม่น้อยกว่า 15 ราย และเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 10 ราย คาดจะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในภาคธุรกิจ สร้างความร่วมมือด้านบริการวิชาการกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และยกระดับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ