29-03-2561

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้ง “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม”

   ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังดำเนินโครงการจัดตั้งโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ในส่วนของวิทย์สร้างคน โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะภายในปี 2565 ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้เป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน จากปัจจุบันที่มีเพียง 13 คนต่อประชากร 10,000 คน เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการการพัฒนาของประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะกำลังคนด้านวิศวกรที่กำลังขาดแคลน ทั้งนี้ จากผลการสำรวจภาพรวมของตลาดแรงงานไทย พบว่าวิศกรเป็นหนึ่งในอาชีพในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งวิศวกรวิจัย วิศวกรออกแบบ วิศวกรปฎิบัติหรือนวัตกร เป็นต้น ซึ่งสายงานวิศวกรมีความต้องการจ้างงานสูงเป็นอันดับ 1 คือ ร้อยละ 17.1 แต่จำนวนผู้สมัครมีเพียง ร้อยละ 6.6 เท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกร จึงจำเป็นต้องบ่มเพาะตั้งแต่ระดับประถม ถึงมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา พร้อมกับนำแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM) มาใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ผ่านโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ที่จะเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ ทั้งสร้างหุ่นยนต์ โดรน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และนวัตกรรมในรูปแบบใหม่

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นโรงประลองต้นแบบ ทางวิศวกรรม จะร่วมมือกับโรงเรียนที่มีความพร้อม จำนวน 30 โรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัย และโรงเรียนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย กับ 50 วิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน เมษายนนี้ โดยใช้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชวติ หรือ สวทช. จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบให้อาจารย์จากสถานศึกษาต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปพัฒนาต่อยอด ในสถานศึกษาของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในโครงการที่ สวทช. ดูแลอยู่ เช่น เด็ก JSTP (Junior Science Talents Project) และนักเรียน นักศึกษาทั่วไปที่สนใจ ได้เรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า โยธา เครื่องกล และเคมี จากนั้นจะขยายผลในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวะศึกษาที่มีความพร้อมอีก 150 แห่งในทุกภูมิภาค