02-04-2561

ไทยและ เบลเยียม จับมือร่วมเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ฉลองความสัมพันธ์ครบ 150 ปี

   ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ จัดงานสัมมนา “Thailand – Belgium Innovation Partnership for the Future” เนื่องในวาระครบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย – เบลเยียม พ.ศ. 2411 – 2561 ณ โรงแรมพูลแมน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทยและเบลเยี่ยม เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมถึงกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของทั้ง 2 ประเทศ ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมีทิศทาง

   ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 สกว.ได้เริ่มการสนับสนุน โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยเน้นการทำงานประสานกัน 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะกับหน่วยงานในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2560 สกว. ฝ่ายอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับหน่วยงานเครือข่ายของประเทศเบลเยียม ผ่านการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งในระดับนโยบายและการสนับสนุนกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน สำหรับในการสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อไปทำวิจัย เป็นต้น

 

 

ขณะที่นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวเสริมว่า เบลเยียมเป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเมื่อเปรียบกับประเทศไทยแล้ว เบลเยียมมีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยถึง 6 เท่า และมีขนาดประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทยถึง 7 เท่า แต่มีมูลค่า GDP เท่ากับประเทศไทย โดยในปัจจุบัน เบลเยียมถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนา ด้านนวัตกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก การจัดงานสัมมนา ในโอกาส ครบ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย – เบลเยียม ครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างเครือข่าย ตลอดจนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนของไทยและเบลเยียม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยต่อไป