10-04-2561

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน เล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เสี่ยง "อาการติดโทรศัพท์มือถือ" และโรคอ้วน

   แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งประชาชนบางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกโทรศัพท์มือถือติดตัว หรือต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ คอยเช็คข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน หรือ ในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง พฤติกรรมเหล่านี้ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์เเบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

   ทั้งนี้ อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่างกาย อาทิ นิ้วล็อค เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน /อาการทางสายตา ที่เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป /อาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร และเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆได้

   สำหรับ แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนให้น้อยลง สามารถทำได้ด้วยตนเอง หลายวิธี อาทิ กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน หรือหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬากิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด