17-04-2561

ฝึกผู้เรียนเข้าสู่อาชีพ ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

   ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส ว่า “การเรียนในสถานศึกษา ทำให้นักเรียน นักศึกษาเข้าใจหลักการเกษตรอย่างมีหลักวิชา ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เป็นประโยชน์ กับการเกษตรในหลายๆ ด้าน การเรียนรู้ระบบการตลาดที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะประกอบอาชีพ ด้านเกษตรกร ส่วนภูมิปัญญาดั้งเดิมหลายประการยังคงให้คุณ หากรู้จักใช้ประกอบกับหลักวิชาสมัยใหม่ นักเรียน นักศึกษาควรพึงเข้าใจและพินิจพิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณของตน.” ดังนั้น เพื่อเป็นการสนอง พระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ ด้านเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน และการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบทยั่งยืน ขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้จัดระบบพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีระบบระเบียบ โดยให้การเรียนรู้เป็นรูปแบบการเรียนทางลัดของผู้เรียนจากความสำเร็จของเจ้าของอาชีพ

   สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่จัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาประเภทวิชาการเกษตรและประมง ที่มีเขตติดต่อกันในแต่ละภูมิภาค เป็นการประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพด้านเกษตรแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลิตและพัฒนากำลังคนภาคการเกษตรและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร อันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาประเทศให้มีเศรษฐกิจดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

   ด้านนายประจักษ์ ทาสี ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ กล่าวว่า สถาบัน การอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ ประกอบด้วยสถานศึกษาในสังกัด จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีเชียงราย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สาขางาน สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สาขางานการผลิตพืชอินทรีย์ สาขางานข้าว สาขางานอ้อย และสาขางานพืชสวน ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนากลุ่มจังหวัด ส่วนนายวันชัย โตมี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก กล่าวว่า การฝึกผู้เรียนเข้าสู่อาชีพ เป็นการเรียนการผลิตพืชแบบ “แม่นยำ” ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนอีกรูปแบบหนึ่งของวิทยาลัยฯ เพื่อฝึกผู้เรียนผลิตผลผลิตทางการเกษตรอย่างแม่นยำ ผู้เรียนเลือกเรียนตามอัธยาศัย เลือกเรียนอาชีพด้วยตนเอง ซึ่งจะได้รับการฝึกจากเจ้าของอาชีพ หรือเจ้าของกิจการ โดยใช้ฟาร์มที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงเป็นสื่อการเรียน เป็นการบูรณาการกับรายวิชาที่ผู้เรียนลงทะเบียนเรียน ทั้งสอดแทรกสหวิทยาการ มีการประเมินผลในฟาร์มตามเกณฑ์ตามปกติของแต่ละรายวิชา และครูยังต้องให้ความสำคัญกับวิธีการประเมินผลแบบสังเกต สอบถามรวมทั้งการสัมภาษณ์ การเรียนการผลิตพืชแบบ “แม่นยำ” คือการผลิตผลผลิตพืชให้ได้คุณภาพและปริมาณตามความต้องการ ซึ่งเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของเกษตร ความสำเร็จนี้ต้องเรียนรู้จากผู้ที่เป็นเจ้าของอาชีพหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรแล้วเช่นกัน ผู้เรียนต้องเรียนรู้ตั้งแต่อากาศในดิน วิธีการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตจนถึงจำหน่ายผลผลิต โดยเป็นการเรียนทางลัด ของผู้เรียนจากความสำเร็จของเจ้าของอาชีพ

ด้านนายปฐมพงศ์ ประธานราษฎร์ ครูจ้างสอนพิเศษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก หนึ่งในทีมงานครูผู้ริเริ่มให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะ กิจกรรมการเรียนการสอนในแปลงเกษตร ได้ริเริ่มฝึกผู้เรียนให้ผลิตพืชแบบแม่นยำ เป็นต้นแบบและรูปแบบการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติตามอย่างเจ้าของอาชีพ จนเกิดความแม่นยำตลอดกระบวนการผลิต รวบรวมปัญหาการผลิตและหาแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งการออกแบบการผลิตพืชได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอาชีพเกษตรให้เป็นมืออาชีพ เกษตรกรแม่นยำ 4.0

สำหรับผู้เรียนเริ่มต้นปรับพื้นฐานชีวิตให้เข้าการผลิตพืชโดยการเลียนแบบเจ้าของอาชีพ การเลือกพื้นที่และการปรับโครงสร้างดินเพิ่มอากาศในดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช เริ่มตั้งแต่การคัดเมล็ด วิธีการปลูก การจัดการตกแต่งใบให้ได้รับแสงอย่างทั่วถึง การดูแลรักษา การป้องกันโรคแมลง ศัตรูพืช เพื่อให้ได้ต้นที่สมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นองค์ความรู้ที่ได้เผยแพร่ให้รุ่นน้องและผู้ที่สนใจ ขณะนี้ได้ทดลองกับการปลูกข้าวโพดแบบแม่นยำเพื่อเพิ่มความหวาน การปลูกฟักทองแถวตรงเพิ่มผลผลิต และลำไยนอกฤดู

การจัดการเรียนการสอนวิชาชีพด้านเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดเป็นต้นแบบ ศูนย์การเรียนรู้ของชุมขน เพื่อการพัฒนาชนบทยั่งยืน ทั้งยังส่งเสริมทักษะวิชาชีพเกษตรกรชาติพันธุ์ การอนุรักษ์พริกสวน การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยพัฒนาให้เป็นเกษตรกรประณีต เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้ได้คุณภาพ