05-06-2561

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ผลักดันโครงการ “นวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง”

   รองศาสตราจาย์ นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ในพิธีเปิดงานความร่วมมือและเสวนาด้านนวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมกล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติ ให้พบสารออกฤทธิ์ทางยา ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นความร่วมมือ ตามพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในอนาคต

   ขณะที่ ดร.ศิรศักด์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การค้นหา ตัวยา เป็นกุญแจสำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาในขั้นต่อไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างความร่วมมือในลักษณะนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation นั้นศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ผ่านความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้เปิดดำเนินการแล้ว ทำให้เกิดมีขีดความสามารถในเทคโนโลยีตรวจคัดกรองสารออกฤทธิ์ในการรักษาโรคได้พร้อมกันในปริมาณมาก และเพื่อขยายขอบเขตของขีดความสามารถของประเทศ ในเวลาต่อมาจึงได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสูงระดับประเทศในการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและนำมาศึกษาการออกฤทธิ์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ความร่วมมือแบบ Open Innovation นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็ง ด้านวิจัยและพัฒนา อันจะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของงานด้านการค้นหายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของนวัตกรรม โดยในการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนกันนี้ ได้มีการกำหนดกฎกติกาขึ้นมาอย่างชัดเจนในรูปแบบของแนวปฏิบัติที่ยึดถือร่วมกัน และสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของกฎกติการะหว่างประเทศ รวมไปถึงการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สามารถถ่ายทอดออกสู่อุตสาหกรรมและการลงทุนได้

   ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล หัวหน้าปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการวางนโยบายพร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “คลังสารเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสารสกัดสมุนไพรแห่งชาติ” ที่จะทำให้เกิดความพร้อมในการเป็นแหล่งของสารที่จะใช้สำหรับการค้นหาฤทธิ์ในทางยาใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม คลังสารเคมีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในหลายมหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าสารบริสุทธิ์ที่ได้จากการสกัดแยก เป็นทรัพยากรชีวภาพของประเทศ น่าที่จะนำมารวบรวมและจัดเก็บอย่างเป็นระบบพร้อมรายละเอียดของข้อมูล ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ นำไปสู่ไปการค้นหายาใหม่ รวมถึงการใช้เป็นสารมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศต่อไป