06-06-2561

กรมสุขภาพจิต เผย คนไทย 1 ล้าน 5 แสนคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แนะผู้ที่มีอาการ

   นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหา โรคซึมเศร้า ว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตคาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 3 หรือมีประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษายอดสะสมจนถึงขณะนี้เกือบร้อยละ 59 อีกร้อยละ 41 ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งภาวะซึมเศร้านี้จัดเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่คนมีจิตใจอ่อนแอ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ ท้อแท้ เบื่อ ไม่อยากพูดไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเหมือนเดิม โดยผู้ที่มีอาการเกือบทั้งวันและเป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้ารับการรักษาโดยการกินยาควบคุมสารสื่อประสาทให้ทำงานเป็นปกติ ซึ่งมีบริการที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6-9 เดือน ควบคู่กับกระบวนทางการแพทย์ เช่น ทำจิตสังคมบำบัดร่วมด้วย และเมื่ออาการเข้าสู่สภาวะปกติดีแล้ว สามารถดูแลตัวเองต่อโดยวิธีการอื่นๆ ได้ เช่น เข้าวัดปฏิบัติธรรม ออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่รีบรักษา อาการซึมเศร้า จะเป็นมากและรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการ ปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศ อย่าอายหมอ เพราะเป็นการเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือ โทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

   ด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและอยู่ระหว่างการรักษา ขอให้กินยาอย่างต่อเนื่องครบตามที่แพทย์ ให้การรักษา อย่าลดยาหรือปรับยาเอง แม้ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ระหว่างรักษาผู้ป่วย ยังสามารถทำงานตามปกติ แต่ขอให้ยึดหลักปฏิบัติ 8 ประการ คือ 1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ยากเกินไป 2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ จัดเรียงความสำคัญก่อนหลังแล้วลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้ 3. อย่าพยายามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้ากับตัวเองสูงเกินไป 4. พยายามทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น 5.เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีและไม่หนักเกินไป เช่น ออกกำลังกายกายเบาๆ ฟังเพลง 6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น หย่าร้าง ลาออกจากงาน โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่ไว้ใจ ควรเลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าอาการซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมาก 7.ไม่ควรตำหนิตัวเอง 8. อย่ายอมรับความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นขณะมีอาการซึมเศร้าว่าเป็นส่วนที่แท้จริงของตัวเอง เพราะความคิดที่เกิดขึ้น มาจากการเจ็บป่วย