11-06-2561

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จับมือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สร้าง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร”

   ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและดำเนินการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ภายใต้ชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร”ภายในบริเวณอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาค สร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคเหนือตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

   ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ สดร. กล่าวว่า ดาราศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ ประเทศชาติ จะพัฒนาได้ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โครงการ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” เริ่มต้นจากการที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติหรือ อพวช. ต้องการสร้างจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้โดยจะร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่นิทรรศการภายในอาคารท้องฟ้าจำลอง ณ อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร ให้สมบูรณ์มากขึ้น นอกจากการให้บริการท้องฟ้าจำลองขนาด 180 ที่นั่ง ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยแล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ดาราศาสตร์ และจะมีนิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจต่าง ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน ในการประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะด้านสะเต็มศึกษา ที่ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในอนาคต

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และมีพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ณ จามจุรีสแควร์เพียงแห่งเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่การให้บริการ เพื่อให้เยาวชนมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านนิทรรศการการทดลองทำงานจริงและพัฒนา Virtual Museum เพื่อใช้เป็น Application หลักในการนำเสนอ Job of the Future โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมนิทรรศการไม่ต่ำกว่าปีละ 240,000 คน คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2562