12-06-2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนุน ดีป้า เดินหน้าพัฒนาเยาวชนดิจิทัล

   ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า กระทรวงดีอีต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู้ดิจิทัล จึงเกิดโครงการโค้ดดิ้ง ไทยแลนด์ (CodingThailand) นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านนโยบาย ที่กระทรวงดีอีคิดขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติ ด้วยหลักการเปลี่ยนห้องเรียนที่คุ้นเคยมาเป็นห้องเรียนบนมือถือ โน้ตบุค ไอแพด ด้วยความมุ่งมั่นสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือต้องให้ประชาชนได้รับความรู้ จึงให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นผู้ดำเนินงานโครงการ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ CodingThailand.org เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมถึงฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

   อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดของประเทศ กระทรวงดีอี เชื่อว่าโครงการโค้ดดิ้ง ไทยแลนด์จะกลายเป็นศูนย์กลางความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย เยาวชนและประชาชนจะมีโอกาสได้เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถก้าวทัน เทคโนโลยี รู้เท่าทัน และสร้างสรรค์การใช้เทคโนโลยี และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ ด้วยมิติใหม่ของการเรียนรู้ จากโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและในการทำงานทุกอาชีพ ทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในระดับสูงต่อไป

 

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวต่อไปว่า ดีป้า ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ออนไลน์ CodingThailand.org โดยบูรณาการความร่วมมือกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของเยาวชนชั้นนำของโลก และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์, ซิสโก้, กูเกิล และ อักษร เอ็ดดูเคชั่น เพื่อแปลและพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะกับเยาวชนไทยในระดับชั้นต่างๆ ทั้งสอดแทรกความบันเทิงและความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยทำให้เยาวชนรู้สึกว่าเรื่องของวิทยาการคอมพิวเตอร์สนุกสนาน

   ทั้งนี้ ดีป้า เชื่อว่าแพลตฟอร์ม Codingthailand.org จะสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศภายใน 3 ปีหลังจากการเปิดตัว และจะกลายเป็นโลกของการศึกษาแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังจะช่วยสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาทุกช่องทาง โดยจะเกิดรูปแบบการศึกษาที่ขนานไปกับวัฒนธรรมในมิติของบุคคล คือ เยาวชน และในมิติของสังคม คือ ครอบครัว ซึ่งจะได้เห็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากการเรียนแบบเดิมๆ