13-06-2561

กรมควบคุมโรค แนะ 4 วิธีรับมือโรคมือ เท้า ปากในเด็ก หลังพบกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปีป่วยกว่า ร้อยละ 85.8

   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก เริ่มพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ มีความเสี่ยงที่จะพบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก ได้แก่ เด็กแรกเกิด- 4 ปี และกลุ่มเด็กวัยเรียน 5-9 ปี เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 85.8 เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก ดังนั้น จึงขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ วิธีที่ 1 ลดการสัมผัสเชื้อโรคที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ วิธีที่ 2 หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม วิธีที่ 3 หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น และวิธีที่ 4 หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหายดี ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ

   ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนควรคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือ มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออก แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการควรพิจารณาให้บุตรหลานหยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422