03-07-2561

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจัดสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

   น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. ได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม สำหรับปีงบประมาณ 2560-2563” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มการผลิตงานโลหะที่เป็นผู้รับจ้างผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ได้มีความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของตนเอง สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตได้อย่างเหมาะสม โดยได้จัดทำโมดูลย่อยในโครงการจำนวน 3 โมดูล ได้แก่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตขั้นสูงและสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีระบบการผลิตแบบกึ่งและอัตโนมัติ และเทคโนโลยี ขั้นสูงในการตรวจสอบและซ่อมบำรุง โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง คือ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมและเข้าร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะ ให้เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนขององค์กรต่อไป

   ทั้งนี้ สวทช. โดย โปรแกรม ITAP ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงจัดสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” โดยมีผู้ประกอบการเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงานในอุตสาหกรรมงานเชื่อมเขตพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) กว่า 60 คน ร่วมสัมมนา เพื่อรับทราบเทคโนโลยีการเชื่อมขั้นสูงและแนวโน้มเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้ในการผลิตและสร้างนวัตกรรม รวมถึงเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ (Smart SME) ด้านงานเชื่อมในเขตพื้นที่ EEC ด้วยการยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผลิตด้วยกระบวนการเชื่อม และการส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะ แปรรูป เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจแข่งขันได้ในตลาด

   ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี การเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรม งานเชื่อมไทยในปัจจุบันว่า งานเชื่อมอาจจะไม่ได้เป็นนวัตกรรมแบบเทคโนโลยี แต่อาจเป็นนวัตกรรมในด้านกระบวนการ ทำให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมงานเชื่อมจริงๆ แล้วไม่ได้มีเฉพาะงานเชื่อมเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน แต่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกี่ยวข้องตั้งแต่สร้างโรงงาน หรือการต้มน้ำ อุตสาหกรรมต่อเรือ ไฟฟ้า ยานยนต์ งานโครงสร้าง งานท่อไปป์ไลน์ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการใช้กระบวนการเชื่อมในการสร้างงาน ซึ่งงานเชื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การสร้างงาน /การผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ที่มีไลน์การผลิตและการซ่อมบำรุง โดยในส่วนงานเชื่อมที่ใช้งานค่อนข้างมากกว่าแบบอื่น คือ ในส่วนของกระบวนการ ซึ่งหลายๆ โรงงานมีกระบวนการเชื่อมมากกว่า 1 อย่าง ทั้งนี้ สามารถแบ่งหรือจำแนกออกเป็น 4 กระบวนการ ตั้งแต่การเชื่อมด้วยมือ (Manual) การเชื่อมกึ่งผสมผสาน (Semi) การเชื่อมที่เป็นแรงงานกึ่งทักษะ จนถึงการใช้ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่ง 2 ส่วนนี้ยังแยกกันอยู่ เพราะระบบหุ่นยนต์หลายแห่งยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนป้อนชิ้นงานเข้าไปสู่งานเชื่อม ซึ่งจุดนี้ยังสามารถออกแบบพัฒนาระบบให้สามารถทำงานและตั้งค่าการทำงานโดยอัตโนมัติได้