18-07-2561

บอร์ดดีอี เห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย”

   ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบเรื่องสำคัญๆ อาทิ เห็นชอบในหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....(จุดจุดจุดจุด) พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งกระทรวงดีอี สดช. และสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยได้ร่วมผลักดันการจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งประเทศไทย โดยการร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยขึ้น

   นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการของแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G รวมทั้งการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อเร่งรัดการพัฒนา 5G ตลอดจนเพิ่ม การให้บริการครอบคลุมพื้นที่และเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งหลักการของการทดสอบภาคสนามในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นการทดสอบที่รองรับการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเปิดรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ต่อเนื่องและในวงกว้างของประเทศต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงดีอี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพิจารณานโยบายที่ให้เกิดการร่วมใช้ทรัพยากรเพื่อรองรับความจำเป็นในการติดตั้งเสาส่งจำนวนมาก และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามที่ประชุม ได้มีข้อเสนอว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบเรื่องของคลื่นความถี่ให้มีความชัดเจน รวมถึงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ โดยหลังจากนี้กระทรวงดีอี พร้อมด้วยสำนักงาน กสทช. จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีการตั้งคณะทำงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกทั้ง ได้เห็นชอบในหลักการให้นำมาตรการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อการไปสู่ Digital Thailand ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. มาใช้สนับสนุนการพัฒนากำลังคนภาครัฐให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ที่ 5 และยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามลำดับ และเห็นควรให้สำนักงาน ก.พ. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานต่อไป

   สำหรับเรื่องสำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายหลังกระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเสนอขอวางโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงตลอดเส้นทางรถไฟ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของระบบควบคุมรถไฟจากอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล และจากการประชุม บอร์ดดีอี ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 มีมติเห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย มีระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสง ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อควบคุมการเดินรถไฟด้วยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ให้มีการจัดทำแผนบูรณาการในการจัดหาให้มีโครงข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อระบบควบคุมการเดินรถไฟ ให้มีความเพียงพอ ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะยาวควรมีการศึกษา ความต้องการใช้งานของทุกหน่วยงานด้วย โดยเห็นควรให้กระทรวงดีอี ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป

   นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center)และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ครั้งที่ 2 ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการออกแบบสถาปัตยกรรม ระบบบูรณาการข้อมูลภาครัฐ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ และคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อย่างต่อเนื่องด้วย