10-08-2561

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

   นายแพทย์ พินิจ หิรัญโชติ ประธานคณะทำงานพัฒนาประเภท และขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เตรียมออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับ ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ซึ่งออกตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

   นายแพทย์ พินิจ หิรัญโชติ กล่าวว่า สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว ครอบคลุมถึง "บริการการแพทย์ แผนไทย" ด้วย โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จากบริการผู้ป่วยนอก เป็นค่าใช้จ่ายบริการการแพทย์แผนไทย สำหรับผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จำนวน 48,575,000 คน ในอัตรา เหมาจ่าย 11.61 บาท ต่อหัวประชากร ผ่านหน่วยบริการประจำ คิดเป็นเงิน งบประมาณ 563,955,750 บาท

   สำหรับประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย ที่ผู้มีสิทธิจะได้รับ ในหน่วยบริการ รวมทั้งที่หน่วยบริการจัดให้ที่บ้านและในชุมชน ประกอบด้วย การให้บริการด้านการตรวจ และวินิจฉัยโรค /การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพมารดาก่อนคลอด การให้ความรู้ และการปรับพฤติกรรมสุขภาพบุคคลด้วยการแพทย์แผนไทย การให้ยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย หรือกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย /การให้บริการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ได้แก่ การรักษาด้วยยา จากสมุนไพรหรือยาแผนไทย การฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยและมารดาหลังคลอด การบริการด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ซึ่งหมายถึง กรรมการวิธีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย ที่สภาการแพทย์แผนไทยกำหนด หรือรับรองแล้วแต่กรณี รวมทั้งการนวด อบ ประคบ หรือกรรมวิธีอื่นใดตามที่ระบุไว้ในตำราการแพทย์แผนไทย ที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา และบริการอื่นๆที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดแต่ ทั้งนี้ การรับบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย จะต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือแนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย