13-09-2561

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด และกลุ่มฟอกซ์คอนน์ลงนามความร่วมมือ

   ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ต้องอาศัยปัจจัยในการพัฒนาหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งเรื่องของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ครูผู้สอน หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะมาถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความทันสมัยไม่เคยหยุดนิ่ง การผลิตคนคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 “เมืองชาญฉลาด” จึงต้องให้ผู้เรียนอาชีวะมีองค์ความรู้ด้านทักษะวิชาชีพควบคู่ไปกับด้านเทคโนโลยี และวิธีที่ดีที่สุดก็คือการร่วมมือกับภาคเอกชนที่ได้มาตรฐานนำความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเติมเต็มเสริมจุดแข็งให้ผู้เรียน สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. กับบริษัท ชาร์ปไทย จำกัด และกลุ่มฟอกซ์คอนน์ ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเฉียบคมมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนก็จะเรียนอย่างมีความสุข สนุกสนานกับการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย และเป็น “สมาร์ทแมน” เต็มตัวเมื่อจบการศึกษา เชื่อว่าการจัดการอาชีวศึกษาที่ดีจะต้องเกิดจากความร่วมมือที่ดีและการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งจากจุดนี้เชื่อมั่นว่าจะมีผู้มาเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

   ด้านนายโยชิฮิโร่ ฮาชิโมโต ประธานกรรมการและผู้บริหารระดับสูง บริษัท ชาร์ป คอปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวว่า ชาร์ป เป็นบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ด้านผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 100 ปี มีประสบการณ์ในการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่นำมาใช้ด้านการศึกษาหลายอย่าง เช่น จอแอลซีดี หุ่นยนต์อุตสาหกรรม อุปกรณ์เสริมระบบพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และในวงการอุตสาหกรรม จึงได้เปิดตัวโครงการเมืองชาญฉลาดระดับโลกขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ในวงการศึกษาเพื่อช่วยกันพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เกิดความเฉียบคม สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมเมืองที่มีความชาญฉลาดได้มากขึ้น

   ขณะที่ นายโรเบิร์ต วู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ ชาร์ป ไทย และฟอกซ์คอนน์ จะช่วยสถานศึกษาอาชีวศึกษาพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ที่ใช้เป็นสื่อการสอนให้มีความทันสมัย เฉียบคม และทำงานด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น ยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้เป็น Smart Education Area เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ จูงใจผู้เรียนให้สนใจค้นคว้าหาความรู้มากขึ้น ด้วยอุปกรณ์จอภาพที่มีการสื่อสารได้หลายช่องทาง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายได้แบบทันทีทันใด มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้จะสนับสนุนสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษาอาชีวะไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรือสำนักงานขาย เพื่อบ่มเพาะความสามารถและทักษะของเด็กไทยให้เท่าทันโลกที่มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว