21-09-2561

นักศึกษา กศน. อำเภองาว สำนักงาน กศน.ลำปาง ได้รับรางวัลการประกวดสร้างสรรค์

   ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน. ร่วมพิธีมอบรางวัลให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ชนะการประกวดโครงการ “จิตสำนึกรักเมืองไทย” พร้อมกล่าวว่า อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบุคลากรของสำนักงาน กศน. กับการเข้าร่วมประกวดโครงงานในโครงการจิตสำนึกรักเมืองไทย ซึ่งเป็นโครงการสร้างจิตอาสาและการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อชุมชน จัดโดยสำนักงานเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกในการป้องกันประเทศ และรักษาความมั่นคง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ซึ่งปีนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่10 แล้ว ได้รับความสนใจจากสถานศึกษาต่างๆ จำนวนมาก โอกาสนี้ โครงงาน“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าด้วยฝายน้ำตก น้อมถวายแม่ของแผ่นดิน”ของ กศน.อำเภองาว สำนักงาน กศน.ลำปาง ได้รับคัดเลือกเป็นทีมดีเด่น 1 ใน 6 ทีม ซึ่งถือว่าทั้ง 6 ทีม คือทีมชนะเลิศ จากจำนวนผู้ส่งผลงาน/โครงการเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 155 ทีม ภายใต้การควบคุมดูแลของนางสาวจารุณี เก่าพิมาย ครู กศน.และนางนงนุช ถาวรวงศ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งเป็นโครงงานเดียวของ กศน. ที่เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ และได้รับคัดเลือกในรอบแรก 12 ทีม มีโอกาสได้แสดงผลงานการพัฒนาเป็นที่ประจักษ์ และได้เข้ารอบ 6 ทีมสุดท้าย ได้รับเงินรางวัลสนับสนุนโครงงานจำนวน 40,000 บาท มีเป้าหมายให้ดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่ม/สถานศึกษาดีเด่นในการดำเนินงานตามโครงการ “จิตสำนึกรักเมืองไทย” โดยนางนงนุช ถาวรวงศ์ ผอ.กศน.อำเภองาว ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินโครงการฯ ให้เป็นที่ปรึกษาดีเด่นระดับประเทศอีกด้วย

   ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ความเป็นสุดยอด กศน.ที่โดดเด่นผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ว่าเป็นโครงงานที่สร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน/สังคม ให้ดีขึ้นจากเดิมในด้านต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิดหลักและเนื้อหาจิตสำนึกรักเมืองไทย ที่ส่งเสริมจิตสำนึกรักประเทศในด้านต่างๆ ความสามัคคี /ค่านิยม / วัฒนธรรม และ ประเพณีอันดีงามของสังคม สร้างโอกาสให้ผู้รับมีชีวิตที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม ตามแนวคิดวิสัยทัศน์และนโยบายของ กศน.ได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น ตอบโจทย์การพัฒนาแบบชุมชนมีส่วนร่วม บ้าน วัด โรงเรียน กิจกรรมที่ทำต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชุมชน นำหลักการ นวัตกรรม ภูมิปัญญามาใช้ในการเสนอผลงาน ส่งเสริมประสบการณ์ การพัฒนาด้านจริยธรรม ทักษะความรู้ ความคิดของนักศึกษาผู้ทำโครงการ มีการวางแผนที่ดีทั้งในการปฏิบัติ กำลังพล โดยมีครูและผู้บริหารสถานศึกษาเข้ามาหนุนเสริมการดำเนินงานในทุกด้าน ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและพลังมากกว่าการทำกิจกรรม ตามแนวทางพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของ กศน. เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักศึกษาและชุมชนได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพเพื่อปลูกฝังความสำนึกรักบ้านเกิด และมีโอกาสสร้างกระบวนการ”คิดเป็น” เพื่อต่อยอด พัฒนาผลงานเพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคตให้แก่ชุมชนของตนเองต่อไป