24-09-2561

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น

   ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือ AJCCBC (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ AJCCBC ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี สารสนเทศร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ที่ประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นทั้งงบประมาณและองค์ความรู้เพื่อฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน

   ขณะเดียวกัน อาเซียนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมาก โดยกำหนดให้ ความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศและการรับรองความปลอดภัย เป็น 1 ใน 8 ยุทธศาสตร์ ในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน ปี 2563 ซึ่งจะเน้นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือ และการระบุและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ อีกทั้งอาเซียนยังได้จัดทำข้อตกลงซึ่งระบุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติ รวมถึงความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย

   นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังได้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์มีความสำคัญเสมอมา โดยได้จัดอบรมเรื่องนี้เป็นประจำ ครอบคลุมทั้งหัวข้อทางเทคนิค มาตรฐาน นโยบาย และได้ใช้เวลา 1 ปีศึกษาความเป็นไปได้ในจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ อาเซียน- ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งนี้ ซึ่งอาเซียนก็ได้ตอบรับความร่วมมือของญี่ปุ่นโดยมีมติให้จัดตั้งศูนย์นี้ที่ประเทศไทยในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับประเทศญี่ปุ่นวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ณ เมือง เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

  ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) กล่าวว่า ศูนย์ AJCCBC มีกำหนดจัดการฝึกอบรมสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของอาเซียนครั้งแรกวันที่ 24 - 28 กันยายน 2561 นี้ ซึ่งประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตร CYDER (ไซเดอร์ Cyber Defense Exercise with Recurrence) เน้นการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประสบความสำเร็จ ในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ฝึกอบรมบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั่วประเทศด้วย จัดมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี มีผู้เข้ารับ การฝึกอบรมรวมกว่า 5,000 คนจากมากกว่า 1,500 องค์กร หลักสูตร Forensics (โฟเรนสิค) เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลจากการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งความรู้พื้นฐานและการลงมือปฏิบัติ และ หลักสูตร Malware Analysis ที่จะเป็นการวิเคราะห์มัลแวร์ประเภทต่างๆ ตามเทรนด์ของภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเนื้อหาหลักสูตรเหล่านี้จะ update ทุกปีเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และสามารถรองรับการรับมือกับภัยคุกคามประเภทใหม่ ๆ ได้ เหมาะกับเจ้าหน้าที่ด้านไอทีของหน่วยงานที่ต้องมีความรู้เพื่อรับมือภัยคุกคามไซเบอร์