11-12-2561

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จับมือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จัดสัมมนาวิชาการ

   นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมสมุนไพร และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนางานทางวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาประเทศสนองนโยบายรัฐ ยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นระบบการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย รองรับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ออกสู่ตลาดโลกอย่างมั่นใจ เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยระดับโลก ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยในการรับรองผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP (Organisation for Economic Co-operation and Development GLP) ในประเทศไทย เนื่องจากทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐาน ความปลอดภัยในการรับรองผลิตภัณฑ์สุขภาพในยุคการค้าเสรีที่มาตรฐานต้องเป็นไปตามหลักสากลที่ยอมรับร่วมกัน อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคและขจัดปัญหาการกีดกันทางการค้า (Non-Tariffs Barrier) ต่อสินค้าไทยที่ต้องการส่งไปขึ้นทะเบียนกับ อย. ในประเทศคู่ค้า รวมถึงคนไทยเองก็จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองและการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วย

   ดังนั้น วว. และ TCELS จึงได้ร่วมกันดำเนินการจัดการอบรมทางวิชาการ “การยกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ในประเทศไทย” ให้แก่ผู้ปฏิบัติการศึกษาวิจัย ระดับก่อนคลินิก เภสัชกร นักพิษวิทยา นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลอง นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปจากทั่วประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถการปฏิบัติงาน ด้านจุลพยาธิวิทยา และพยาธิวิทยา โดยมีวิทยากร จากบริษัทที่รับทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระดับโลก จากเกาหลีใต้ มาให้ความรู้และพัฒนาบุคลากร ในงานศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก สร้างความสามารถให้หน่วยทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และห้องปฏิบัติการ ตามหลักเกณฑ์ OECD GLP ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพงานวิจัยและงานทดสอบด้านพิษวิทยาในสัตว์ทดลองเพื่อมุ่งสู่หลักการของ OECD GLP ทั้งนี้ วว. และ TCELS ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านพิษวิทยา/พยาธิวิทยา ให้มีความรู้และความเข้าใจในหลักการที่เป็นระบบคุณภาพในระดับสากล ควบคู่ไปกับการยกระดับห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา ในประเทศไทย ให้มีศักยภาพทั้งการวิจัยและการทดสอบด้านพิษวิทยาในสัตว์ทดลองให้เป็นที่ยอมรับ คาดว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน จะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานพิษวิทยา/พยาธิวิทยา รวมถึงเกิดห้องปฏิบัติพิษวิทยา/พยาธิวิทยาที่ได้มาตรฐานสากล รองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ในประเทศได้ในอนาคตอันใกล้

   ด้านนางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมสมุนไพร วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมสมุนไพร วว. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องสำอาง และวัสดุทางการแพทย์ จึงได้ดำเนินการยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2562 นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองตามหลัก OECD GLP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ตลอดจนช่วยให้เกิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน