21-12-2561

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่งดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบ และสร้างในประเทศไทยขึ้นสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จ

   ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามวันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จรวดฟอลคอน 9 (ฟอลคอนไนน์) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ภายใต้มิชชั่น SSO-A: Smallsat Express (เอสเอสโอเอ สมอลแสท เอ็กซ์เพรส) ของบริษัทสเปซไฟล์ท ได้ส่งดาวเทียม”แนคแซท” พร้อมด้วยดาวเทียมอื่นๆ รวมทั้งหมด 64 ดวงจากทั้งหมด 17 ประเทศ ขึ้นสู่วงโคจรประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย การส่งจรวดครั้งนี้ถือว่าเป็น ครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยส่งจากฐานยิงจรวด ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นครั้งแรกที่บริษัทสเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการนำตัวผลักดัน ของจรวดมาใช้ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งความสำเร็จในการนำตัวผลักดันมาใช้ซ้ำได้จำนวนหลายครั้ง จะส่งผลให้ต้นทุนและราคาการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศลดลง หน่วยงานต่างๆ สามารถมีดาวเทียม เป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะใช้สำหรับเชิงพาณิชย์หรือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างเช่นโครงการดาวเทียมแนคแซท

   ทั้งนี้ สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้ครั้งแรก โดยนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ชื่อว่า Mike Rupprecht (ไมค์ รูพเพรคชท์) ชาวเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เวลา 09:04น ตามเวลาสากล เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทได้เริ่มต้นปฎิบัติงานในอวกาศแล้ว และนักวิทยุสมัครเล่นคนเดิม ได้รับสัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทอีกครั้งในเวลา 10:41 น ตามเวลาสากล ตรงกับเวลา 17:41น. ตามเวลาในประเทศไทย ในวันเดียวกัน / ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เวลา 02:52น ตามเวลาสากล และวันที่ 7 ธันวาคม 2561 เวลา 15:04น ตามเวลาสากล สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้โดย นักวิทยุสมัครเล่นชาวอินโดนีเซีย Fatc Mubin (แฟทค์ มูบิน) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทได้เริ่มต้นปฎิบัติการงานในอวกาศแล้ว

   ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวเทียมแนคแซทถือเป็นดาวเทียมสัญชาติไทย ดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ มจพ. โดยมีพันธกิจหลักในอวกาศ ได้แก่ การถ่ายภาพโลกจากอวกาศ ความละเอียด: 1 – 2 กิโลเมตรต่อ pixel ทดสอบการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่ออกแบบและจัดสร้าง ขึ้นในอวกาศ คาดว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายและกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจการเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการ ยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และในอนาคตหวังว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตดาวเทียมของไทย และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการศึกษาต่อไปได้

   ด้าน ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการดาวเทียมแนคแซท กล่าวว่า ในส่วนของสถานภาคพื้นดินของโครงการดาวเทียมแนคแซท ที่ตั้งอยู่ ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน มจพ. ยังไม่ได้รับสัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซท แต่เนื่องจากมีการส่งดาวเทียมไปถึง 64 ดวงและขณะนี้ได้รับสัญญาณเพียง 3 ดวงเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ มจพ. ได้จัดนักศึกษาและอาจารย์ รอจับสัญญาณดังกล่าวให้ได้ด้วยตนเองแล้ว หลังจากที่สัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทถูกได้รับครั้งแรก ซึ่งหมายถึงดาวเทียมแนคแซทยังคงอยู่ ในวงโคจร และเนื่องจากดาวเทียมจะมีรอบการโคจรจึงอาจต้องใช้เวลาในการได้รับสัญญาณครั้งต่อไป