15-01-2562

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและแนวทางการบูรณาการ ด้านการศึกษา

   พลเอกสุรเชษฐ์ ไชยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเป็นประธาน การประชุมมอบนโยบายและแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคในพื้นที่ภาคเหนือ ณ สำนักงานศึกษาธิการภาค จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ทิศทาง นโยบาย และแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของการศึกษาใน ระดับภาคเพื่อนำแนวทางการบูรณาการการพัฒนาการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ พลเอกสุรเชษฐ์ ไชยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค เพื่อปฏิบัติภารกิจ ของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ สามารถปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในบริบทและมิติต่างๆ และบรรลุตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในปี 2580 คือ ประเทศมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการศึกษาระดับภาคทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ในเขตชายแดน ให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคพื้นที่ภาคเหนือมีหลักการสำคัญ คือ ประชาชน ทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาในระบบต่างๆ ที่มีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต / เด็กและเยาวชน ผู้เรียน มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็ง และการจัดการศึกษาสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เป็นการบูรณาการแผนงาน โครงการให้มีความสอดคล้อง เชื่อมโยงกันรวมทั้งการจัดทำงบประมาณเชิงบูรณาการ รวมถึงตอบสนองต่อการพัฒนาภาคเหนือ คือ "ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งดำรงเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง"

   สำหรับ การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลาง ศึกษาธิการภาค 6 ภาค และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางบริหารจัดการศึกษา ของภาคเหนือ พร้อมกับรับทราบในส่วนของขอบเขตบทบาท อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลาง ที่เชื่อมโยงหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่อย่างชัดเจน ทั้งการอำนวยการ /วางยุทธศาสตร์ / การปฏิบัติ การกำกับติดตาม รวมทั้งศึกษาธิการทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน จะสามารถนำแนวทางการบูรณาการของภาคเหนือไปต่อยอดเป็นรูปแบบขั้นตอนที่เหมาะสมตาทบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมต่อไป