18-04-2562

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรม จับคู่ SMEs

   ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. เปิดเผยว่า ตามที่ สวทน. ได้รับมอบหมายให้ศึกษาและเสนอกลไก การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs สู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้น สวทน. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้ออกแบบรูปแบบกลไกการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม โดยหนึ่งในกลไกของการส่งเสริมและยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมนั้น คือการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการต่อยอดผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงในตลาด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดงาน STI – IDE Matching Day: (เอสทีไอ-ไอดีอี แมทชิ่งเดย์) จับคู่จากหิ้งสู่ห้าง ปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม ขึ้น เพื่อนำร่องกิจกรรมการพัฒนากลไกดังกล่าว เป็นการสร้างระบบนิเวศ ที่เอื้ออำนวยต่อการต่อยอดผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงในตลาด ทั้งนี้ สวทน. ได้เชิญหน่วยงานพันธมิตรอาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. /ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS // สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA // สมาคมธนาคารไทย// และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ร่วมมือกันเสาะหาผลงานวิจัยที่มีความพร้อมต่อการต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการในงาน และได้เชิญผู้ประกอบการ SMEs กว่า 30 ราย ที่มีความสนใจและมีความพร้อมในการต่อยอดผลงานวิจัยเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการและผลงานวิจัยสามารถจับคู่กันได้ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการจะได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดผลงานวิจัยจากนักวิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการนำผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สวทน. และหน่วยงานพันธมิตรจะสนับสนุนที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการเงินและการลงทุน ด้านการตลาดและการลงทุน ด้านเทคโนโลยีการผลิตและวิศวกรรม ด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและบ่มเพาะความพร้อมให้ผู้ประกอบการตลอดระยะเวลาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

   สำหรับผลงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ที่ได้นำเสนอต่อผู้ประกอบการ ประกอบด้วยผลงานจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ภายใต้ สวทช. ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อการผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดเมื่อย ที่มีอนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันไพลและขมิ้นชัน เหมาะสำหรับผู้ที่ มีอาการออฟฟิศซินโดรม โดย ดร.สุวิมล สุรัสโม// ครีมขมิ้นชันลดสี เพื่อใช้ทางผิวหนัง ใช้นาโนเทคโนโลยี ลดปัญหาสีตกค้างบนเสื้อและผิวหนัง โดย ดร.ชญานันท์ เอี่ยมสำอาง// และผลิตภัณฑ์ลดการเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำ รักษาความสดและปลอดภัยด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ ลดการบอบช้ำระหว่างการขนส่ง โดยนายจักรวาล ยศถาวรกุล // และอีกงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก TCELS คือ ผลิตภัณฑ์แชมพูและ แฮร์โทนิคจากเซรั่มยางพารา เพื่อช่วยในการบำรุงรักษาเส้นผมและขนคิ้วให้ดกดำโดย ดร.วุฒิชัย วิสุทธิพรต ซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ดังกล่าว พัฒนาจากเทคโนโลยีฐานที่สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในหลากหลายธุรกิจ

   อย่างไรก็ตาม การจัดงาน STI – IDE Matching Day: จับคู่จากหิ้งสู่ห้าง ปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสำคัญที่มีกระบวนการทดลองนำร่องจากการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์จริง เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในด้านการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป