05-06-2562

สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนคนไทยส่องดู “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืนวันที่ 10 มิถุนายนศกนี้

   นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2562 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ตรงกับเวลาประเทศไทย ประมาณ 22.21 น. ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างประมาณ 640 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตยลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู ความสว่างปรากฏ -2.6 หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหากสังเกตดาวพฤหัสบดีด้วยกล้อง สองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะมองเห็นแถบเมฆ และดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของ ดาวพฤหัสบดี เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจน

   นอกจากนี้ สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 10 มิถุนายน 2562 ระหว่างเวลา 18:00-22:00 น. โดยเชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และที่ลานชมวิวนางเลือก หาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

   นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ “กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์มาบริการประชาชนเช่นกัน ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.NARIT.or.th