10-06-2562

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะนำวิธีตรวจสอบระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ภายในอาคาร เพื่อป้องกันอันตรายและลดความการเกิดอัคคีภัย

   นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ มักมีผู้อยู่อาศัยอยู่จำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ใช้งานกว้างขวางและความสูงของอาคาร จึงต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำวิธีตรวจสอบระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ ดังนี้ แผงผังอาคาร ควรติดตั้งผังอาคารรวมบริเวณชั้นล่าง และผังอาคารของแต่ละชั้นในทุกชั้น ซึ่งแสดงตำแหน่งที่อยู่ อุปกรณ์ดับเพลิง เส้นทางหนีไฟ และประตูทางออกฉุกเฉิน /ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟ ควรติดตั้งในบริเวณที่มองเห็นชัดเจน และ มีไฟส่องสว่างนำไปสู่ทางออกจากอาคาร /ถังดับเพลิง ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่ายและหยิบใช้งานได้สะดวก /ประตูทางออกฉุกเฉิน บานประตูและผนังโดยรอบประตูต้องเป็นวัสดุทนไฟ โดยติดตั้งในลักษณะผลักเข้าสู่ด้านในของบันไดหนีไฟ กรณีเป็นประตูทางออกชั้นล่างสุดหรือดาดฟ้าต้องติดตั้งในลักษณะผลักออก บันไดหนีไฟ ต้องมีอย่างน้อย 2 แห่ง ในตำแหน่งที่สามารถหาได้ง่าย ไม่วางสิ่งของและวัสดุติดไฟง่ายกีดขวางบริเวณทางเดินของบันไดหนีไฟ อีกทั้งมีช่องหน้าต่างระบายควัน นอกจากนี้ทุกชั้นของอาคารต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อควบคุมเพลิงในเบื้องต้น พร้อมตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี /ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งกริ่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อุปกรณ์ดักจับควันหรือความร้อน และระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณในลักษณะแสงหรือควัน ส่วนระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่นภายในอาคาร เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันทีที่เกิด เพลิงไหม้และไฟดับ โดยไฟสำรองต้องจ่ายไฟได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งการส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟ เครื่อง สูบน้ำ ลิฟต์ดับเพลิง และระบบสื่อสาร ทั้งนี้ การเรียนรู้และตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยอยู่เสมอ จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความปลอดภัย ห่างไกลอันตรายจากเพลิงไหม้