11-06-2562

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลง “ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

   ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้พัฒนาวิธีการรักษาด้านจักษุวิทยามาจนประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยสู่การรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งแก้ ปัญหาสาธารณสุขของประเทศรวมทั้งยกระดับงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 ทีมจักษุแพทย์ ศิริราช ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ลิมบัส ต่อมาปี 2551 ได้พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก และจากนั้นปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยงมาใช้ สำเร็จเป็นครั้งแรกและแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา ซึ่งการพิจารณาเลือกการรักษาวิธีใดจาก 3 วิธีนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

   ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง งามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวถึงโรคตาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยว่า กระจกตาปกติของคนเรามีความใสและผิวเรียบ ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน การที่กระจกตาสามารถคงความใสอยู่ได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ทำหน้าที่เสมือนโรงงานคอยสร้างเซลล์ผิวกระจกตาขึ้นทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา ทำให้ผิวกระจกตาคงความใสและไม่เป็นแผล ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตา รุกเข้ามาในกระจก ตาได้ ทั้งนี้ ภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง พบได้ในหลายโรค เช่น ตาที่ได้รับอันตรายรุนแรงจากสารเคมีเข้าตา /กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน /การอักเสบหรือการติดเชื้อที่กระจกตา /โรคสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องแต่กำเนิด /โรคเนื้องอก หรือ ต้อเนื้อขั้นรุนแรง และตาที่ได้รับการผ่าตัดหลายๆ ครั้ง เป็นต้น เมื่อสเต็มเซลล์บกพร่องทำให้มีเส้นเลือดรุกเข้ามาในกระจกตา กระจกตาขุ่น เกิดแผลถลอกที่ผิวกระจกตา กระจกตาติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีสายตามัวลง ทั้งนี้ ภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องนั้น เป็นภาวะที่ รักษายาก การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐาน ไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ และ เส้นเลือดยังสามารถรุกเข้ามาในกระจกตาจนบดบังการมองเห็น ดังนั้นในผู้ป่วยที่สเต็มเซลล์บกพร่องมาก การรักษาจึงจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา

   ขณะที่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา กล่าวถึงขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาและผลการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องอย่างรุนแรง จำเป็นต้องทำการรักษาโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ซึ่งวิธีการในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัสหรือเยื่อบุปาก และ กลุ่มที่ 2 การนำเนื้อเยื่อจากลิมบัสมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ สำหรับขั้นตอนการผลิตเซลล์ต้นกำเนิด ทางทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน และฝ่ายวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้พัฒนากระบวนการผลิตเซลล์โดยศิริราชเทคนิค ซึ่งทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เซลล์ที่จะนำไปใช้ในการปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยนั้น มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงโดยอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเซลล์ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือสารเคมีอันตรายใดๆ และการเพาะเลี้ยงเซลล์ทำในห้องปฏิบัติการที่สะอาด ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทั้งยังมีการควบคุมคุณภาพของกระบวนการการผลิตเซลล์ ซึ่งเซลล์ที่เพาะเลี้ยงด้วยวิธีศิริราชเทคนิค สามารถโตได้เพียงพอในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ตามเวลาที่กำหนด คือ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และมีปริมาณสเต็มเซลล์สูงมากกว่าร้อยละ 80 จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง

   สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง เป็นวิธีล่าสุดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน วิธีนี้จะตัดเนื้อเยื่อที่มีสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาจากบริเวณลิมบัส ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร แล้วนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางบนกระจกตาผู้ป่วย จากนั้นจะปล่อยให้เซลล์เจริญเติบโต จนเต็มผิวกระจกตา ซึ่งพบว่าการผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยงนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทัดเทียมกับวิธีที่อาศัยการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ผิวกระจกตา

   อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการรักษาผู้ป่วยภาวะสเต็มเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาบกพร่องด้วยวิธีการทั้ง 3 วิธี และได้พัฒนาเทคนิคเฉพาะให้เหมาะสมกับผู้ป่วยไทย ปัจจุบันการรักษาภาวะสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาบกพร่อง ทั้ง 3 วิธีของโรงพยาบาลศิริราช ได้ทำการผ่าตัดไปทั้งสิ้น 86 ตา ในผู้ป่วย 75 ราย จาก วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส 24 ตา และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก 27 ตา ประสบผลสำเร็จประมาณร้อยละ 70 ในขณะที่วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยงผ่าตัดแล้ว 35 ตา ประสบผลสำเร็จถึง ร้อยละ 83 นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้ขยายการวิจัยร่วมกับภาควิชาจักษุวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคคลากรทางการแพทย์ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งยกระดับงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติต่อไป