09-07-2562

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

   นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. กล่าวว่า อพวช. จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยาระดับประเทศ ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “รู้ รัก ดินและน้ำ ตามรอยพ่อ” ขึ้น เพื่อปลูกฝังทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เยาวชน และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ โดยในปีนี้มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวนกว่า 40 โครงงาน จากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย”

   ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี กับ โครงงานศึกษายับยั้งการทำลายไคตินของเปลือกไข่ยุงลายชนิดรักษ์น้ำแทนการใช้สารเคมีจากทรายอะเบท เจ้าของโครงงาน คือ ด.ช.เมธัช นิมมานนรวงศ์ ด.ญ.รุ่งทิพย์ สุพรศิลป์ชัย และ นางสาวณัฐชา เทียนศรี ได้รับทุนการศึกษา 15,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนสีคิ้ว "สวัสดิ์ผดุงวิทยา" จังหวัดนครราชสีมา กับ โครงงานอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันพืชโดยใช้ดอกหญ้าวงศ์โพเอซิเอ (Poaceae ) เจ้าของโครงงาน คือ นางสาวอัญชสา สุระเสียง นางสาวปรียาภรณ์ เยี่ยงอย่าง และ นางสาวกันยารัตน์ นอกพุดซา ได้รับทุนการศึกษา 12,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก กับ โครงงานสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตบีดส์ไคโตซานและการประยุกต์ใช้บีดส์ที่ผ่านการใช้งาน เจ้าของโครงงาน คือ ด.ญ.กฤตินา เครือกนก ด.ญ.สุภานันท์ เสือมั่น และ นางเพื่อนจิต สิงห์เผ่น ได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท

รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กับ โครงงานการศึกษาประสิทธิภาพวัสดุบำบัดน้ำเสียจากผักตบชวา ชานอ้อย และธูปฤๅษี ที่มีผลต่อการบำบัดแหล่งน้ำเสียในโรงเรียน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ กับ โครงงานการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาความชื้น ในดิน โรงเรียนบางบ่อวิทยาคมจังหวัดสมุทรปราการ กับ โครงงานการศึกษาการวัดปริมาณไมโครพลาสติกในอาหารสด ได้รับทุนการศึกษาโรงเรียนละ 5,000 บาท

   ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประสบการณ์และความรู้ ที่เยาวชนจะได้รับในการเข้าร่วมการประกวดฯ ในครั้งนี้แล้ว อพวช. ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจะสามารถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์โครงงาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และสามารถนำไปพัฒนาพื้นที่ในท้องถิ่น หรือภูมิภาคของตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป