06-08-2562

กรมอนามัย ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

   แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable Breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน” ว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยในปี 2559 พบว่ามีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และเพียงร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และมีทารกเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี โดยภายในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายให้อัตราการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 สอดคล้องกับเป้าหมายโลกที่ทุกประเทศตั้งไว้ร่วมกันเมื่อปี 2555 เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กเพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่าเหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็ก และมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น ซึ่งควรให้ลูกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เทคนิคสำคัญ คือ 3 ดูด ได้แก่ ดูดเร็ว ให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง / ดูดบ่อย ให้ลูกดูดนมอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง และดูดถูกวิธี คือ การให้ลูกดูดนมจากอกแม่อย่างถูกวิธี และในแต่ละครั้งควรให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อยอีกด้วย

   อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ กรมอนามัยขอเน้นย้ำให้ทุกคนในสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ได้สำเร็จด้วยการร่วมมือกันสนับสนุนสิทธิสตรีทำหน้าที่แม่ โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบด้านให้เป็นมิตรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. การปกป้อง สิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ซึงปัจจุบันมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ควบคุมกำกับ 2. ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยให้แม่มีความรู้ ทัศนคติและความตั้งใจที่จะให้นมลูก และพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก รวมทั้งพัฒนาศักยภาพพยาบาลนมแม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับหญิงตั้งครรภ์และให้นมลูก และ 3. การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย กรมอนามัยจึงมีการขับเคลื่อนโครงการนำร่องเพื่อช่วยสนับสนุนการขนส่งนมแม่ข้ามจังหวัดสำหรับแม่ทำงานโดยได้นำร่องในเขตสุขภาพที่ 7 จังหวัด ได้แก่ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจสายการบินและรถโดยสารประจำทาง ทำให้การขนส่งนมของคุณแม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี