29-08-2562

นักธรรมชาติวิทยา อพวช. ค้นพบ มดชนิดใหม่ของโลก มีผิวหนังขรุขระ ไม่มันเงาเหมือนมด สายพันธุ์อื่นๆ

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา อพวช. ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดย เหล่านักธรรมชาติวิทยา ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.ได้ดำเนินการศึกษาค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกแล้วกว่า 68 ชนิด ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ค้นพบปีละ 6-7 ชนิด นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และผลงานหรืองานวิจัยเหล่านี้ถูกนำไปตีพิมพ์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการระดับนานาชาติ และล่าสุดนักธรรมชาติวิทยา ของอพวช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลก โดยผลงานการค้นพบมดชนิดใหม่ครั้งนี้ ได้สร้างความสำคัญให้กับด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่รู้จัก มากขึ้นในสังคม และหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะได้ถ่ายทอดไปสู่เยาวชน และประชาชนที่ได้หันมาสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น

   ด้าน ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้ค้นพบมดชนิดใหม่ กล่าวว่า การค้นพบมดชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมดที่ค้นพบมีความแตกต่างจากมดชนิดอื่นๆบนโลก มีลักษณะเด่น คือ ลักษณะภายนอกที่มีผิวหนังขรุขระ ไม่เงาเหมือนมดสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีความมันเงา ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ประมาณ 0.9 มิลลิเมตร ขณะที่ลำตัวยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

   การค้นพบมดดังกล่าวสามารถบ่งชี้ถึงดัชนีของความอุดมสมบูรณ์บนผืนป่าในประเทศไทยที่ยังคงอยู่ นับเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศ มดสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นมดชนิดใหม่ของโลก ในเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา พร้อมถูกตั้งชื่อว่า "มดอาจารย์รวิน" ตามชื่อของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านในฐานะที่ เป็นผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนและผลักดันการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้แก่นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. อย่างจริงจังมาโดยตลอด