23-09-2562

ประเทศไทย ค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ โดยเฉพาะ

   นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ คือ ไฮยีนาลายจุด/ แรดชวา /กวางป่าและเม่นใหญ่แผงคอยาว ภายในถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ ของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมา โดยเป็นการค้นพบโครงกระดูกหิน ขนาดใหญ่ในตะกอนดินโบราณ จากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือ จังหวัดกระบี่ กรมทรัพยากรธรณี จึงเข้าตรวจสอบตามขั้นตอน ของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 พบมีความเป็นไปได้ ที่จะเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมาตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว พบเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ที่สำคัญจากการคาดคะเนอายุเบื้องต้นน่าจะอยู่ตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่าง ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย หรือประมาณ 200,000 – 80,000 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังนั้นกรมทรัพยากรธรณี จะพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย ซึ่งในไทยพบไฮยีนาลายจุดกระจายตัวอยู่ 6 พื้นที่ ประกอบด้วย ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ 200,000 – 160,000 ปี /บ่อทรายบ้านโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณ 200,000 – 160,000 ปี / ถ้ำวิมานคินทร์ จังหวัดชัยภูมิ อายุประมาณ 200,000 – 160,000 ปี /ถ้ำเพดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุประมาณ 200,000 – 160,000 ปี / ถ้ำประกายเพชร จังหวัดชัยภูมิ และถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ อายุประมาณ 200,000 – 80,000 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันไฮยีนาสายพันธุ์ย่อยนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

   ด้านนายกันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียร ของธาตุคาร์บอนและศึกษาไอโซโทป ของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำยายรวก ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีนหรือเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อน มีสภาพแวดล้อมเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ไปยังหมู่เกาะต่างๆ แล้วยังมีข้อสันนิษฐานว่าการกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่เป็นผลมาจาก ความไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนาที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน คาดว่า เกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซียช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน