25-09-2562

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมความพร้อมเต็มที่สำหรับเยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายหลังน้ำลด

   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ภายหลังน้ำลด โดยกล่าวว่า มีความพร้อมเต็มที่ เพราะอาจจะมีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งทางกระทรวงมีความพร้อมทั้ง ยา เวชภัณฑ์ และสถานบริการสาธารณสุขไว้รองรับการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ปฎิบัติการเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงมีหน้าที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการซ่อมแซมสถานพยาบาล ที่เสียหายและเสริมอุปกรณ์เพื่อให้การบริการไม่หยุดชะงัก ทั้งนี้การดูแลด้านสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้า จะมีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ซึ่งมีทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เข้าไปพบปะ เยียวยาสภาพจิตใจโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาพบประชาชนมีภาวะเครียด กว่า 100 ราย และเครียดจัด 22 ราย ซึ่งต้องนำมาบำบัดเยียวยาจนมีภาวะที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันทุกกระทรวงได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูโดยเร็ว รวมถึงพิจารณาความเสียหายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้ดูแลอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นไปตามหลักเกณฑ์

   นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ขณะนี้มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำความช่วยเหลือต่างๆลงไปในพื้นที่ โดยเฉพาะ การแจกหน้ากากอนามัยและยาให้ประชาชน เพื่อป้องกันโรคที่มากับฝุ่นและควัน ทั้งนี้ต้องให้ประชาชน ช่วยกันดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยการลดกิจกรรมกลางแจ้ง เชื่อว่าประชาชนเข้าใจและทราบดีว่า ต้องปฎิบัติตนอย่างไร นอกจากนี้ ในส่วนปัญหา 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่จะให้ยกเลิกการใช้ภายในสิ้นปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ เนื่องจากในข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีส่งมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ได้เน้นย้ำว่า ไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ของเกษตรกร กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเข้ามามีบทบาท โดยยืนยันไม่สนับสนุนในส่วนของสารเคมี เพราะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

   พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ให้สารเคมีอันตรายหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งต้องหาสิ่ง ที่มาทดแทนให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป โดยมีผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย