02-10-2562

กรมควบคุมโรค ย้ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดมีผลเสีย ดื่มมากในเวลาอันสั้นเสี่ยงเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต

   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและในระยะเวลาสั้น ๆ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาท หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดภายในระยะเวลาเฉลี่ย 45 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม จากการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่มช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ บาดเจ็บ และพฤติกรรมรุนแรง ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง สับสน มึนงง และซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงอาจหยุดหายใจอันตรายต่อชีวิตได้

   นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าในรูปแบบใด ล้วนแต่มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง อาทิ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัวรวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องยนต์ ที่นอกจากเป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากในแต่ละปี ยังก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว อุบัติเหตุ ความรุนแรงอันเกิดจากขาดสติและอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอแนะนำประชาชนให้ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือหากจำเป็นต้องดื่ม ขอให้ระมัดระวังไม่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปรวดเดียว หรือปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์