22-10-2562

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ระบุเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี

   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สามของปี 2562 จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้เสียชีวิตมีประวัติดื่มเหล้าเป็นประจำ ซึ่งญาติให้ข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตโดนสุนัขกัดหลายครั้ง แต่ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกัน ถึงแม้ว่าผู้เสียชีวิตในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่า แต่ประชาชนต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เป็นได้ทุกฤดูกาล โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อ จากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ทุกชนิดที่มีเชื้อนี้ สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว เมื่อคนรับเชื้อแล้ว เชื้อจะเพิ่มจำนวนในบาดแผล จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ระบบประสาท โดยระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเชื้อที่ได้รับ เช่น ขา / แขน หรือใบหน้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน บางราย อาจนานถึง 1 ปี อาการส่วนใหญ่มักมีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น การป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า และการปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรคเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัดให้รีบพบแพทย์ทันที

   อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรปฏิบัติดังนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนด ทุกปี / ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง / พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมัน เมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัข/แมวที่ไม่มีเจ้าของ และ ลดความเสี่ยงถูก

สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลัก “คาถา 5 ย.” คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ / อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ / อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่าอย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร / และอย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ ทั้งนี้ประชาชนที่ถูกสุนัขหรือแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกที่แผลต้องรีบล้างแผล / ใส่ยา / กักพื้นที่สัตว์ / หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบชุด นอกจากนี้ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาด ล้างเบาๆ นานอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นใส่ยาเบตาดีน กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนชนิดนี้ต้องได้รับหลายครั้ง จึงขอให้ไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422