15-11-2562

กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ จังหวัดหนองบัวลำภู เปิดตัวการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธ์ใหม่ ตัวที่ 11 ของประเทศไทยภายใต้ชื่อ "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซีส"

   นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงการค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 11 ของไทย มีชื่อว่า "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" (Vayuraptor nongbualamphuensis) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลและชนิดใหม่ของโลก พบที่หลุมขุดค้นภูวัด อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จังหวัดหนองบัวลำภู โดยคุณพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีอายุร่วม 130 ล้านปี อยู่ในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของไดโนเสาร์ โดยกล่าวว่า วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภู จัดอยู่ในกลุ่มเบซอลซีลูโรเซอร์ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกมากกว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบ ประกอบด้วย กระดูกขาหน้าแข้ง และข้อเท้า กระดูกซี่โครง / กระดูกหัวหน่าว / กระดูกข้อนิ้ว / กระดูกจะงอยบ่า / กระดูกน่อง

   ด้าน นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ยังได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หลากหลายประเภท นอกจากนั้นแล้วทางกรมทรัพยากรธรณี ยังได้พัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดสร้างแหล่งพิพิธภัณฑ์และอาคารคลุมหลุมขุดค้นพบ 2 แห่ง ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ ที่เป็นแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลาย และได้มอบให้ทางอุทยาน เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์ ส่วนชิ้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธ์ใหม่ของโลก วายุแรพเตอร์ หนองบัวเอนซิส กรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการประกาศให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ต่อไป

   ขณะที่นายอดูลย์ สมาธิ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธ์ุใหม่ของโลก วายุแรพเตอร์ หนองบัวเอนซิส ค้นพบเมื่อ พ.ศ.2531 เมื่อทำการศึกษา เทียบเคียง กับซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์จากหลายประเทศ ยังไม่มีการค้นพบ ชนิดและ สายพันธ์นี้ จึงถือได้ว่า เป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ชนิดสายพันธ์ใหม่ ตัวแรกของโลก เป็นลำดับที่ 11 ของประเทศไทยที่ค้นพบซากไดโนเสาร์